กลุ่มติดอาวุธทรงแสนยานุภาพ พันธมิตรของอิหร่านในอิรักและเยเมน ออกมาขู่จะเล็งเป้าหมายเล่นงานผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วยจรวดและโดรน หากว่าวอชิงตันเข้าแทรกแซงสนับสนุนอิสราเอล ในความขัดแย้งกับฮามาส ในฉนวนกาซา ท่ามกลางสัญญาณต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าความขัดแย้งกำลังลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ
ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ แสดงจุดยืนสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล เอาคืนพวกนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" นอกจากนี้ อเมริกายังประกาศจัดหากระสุนเพิ่มเติมอย่างรวดเร็วแก่อิสราเอล รวมถึงส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี เข้าไปยังทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ในอิรัก คาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มก๊กติดอาวุธทรงพลานุภาพ ที่มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน บอกว่าพวกเขาจะเล็งเป้าหมายเล่นงานฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ด้วยขีปนาวุธ โดรนและกองกำลังพิเศษ หากว่าวอชิงตันแทรกแซงความขัดแย้งระหว่างฮามาสกับอิสราเอล
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยกล่าวหานักรบกลุ่มนี้ ว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่ผ่านมา เล่นงานผลประโยชน์ของอเมริกาในอิรัก อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว
ปัจจุบันสหรัฐฯ เหลือทหาร 2,500 นายในอิรักและอีก 900 นายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย ในภารภิจให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกองกำลังท้องถิ่นในการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งบุกจู่โจมสายฟ้าแลบยึดพื้นที่อันกว้างขวางคร่อมดินแดนของ 2 ประเทศ
ส่วน ฮาดี อัล-อามิรี นักการเมืองอิรัก ผู้นำกลุ่มการเมืองและกลุ่มติดอาวุธ "องค์กรบาดร์" ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอิหร่าน ออกมาข่มขู่ลักษณะเดียวกันในวันจันทร์ (9 ต.ค.) "ถ้าพวกเขาแทรกแซง เราก็จะแทรกแซง เราจะพิจารณาว่าทุกเป้าหมายที่เป็นอเมริกานั้นมีความชอบธรรม" อัล-อามิรี ระบุ
องค์กรบาดร์ ประกอบด้วยกำลังพลขนาดใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธระดมประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) แห่งอิรัก ซึ่งเป็นองค์กรกองกำลังกึ่งทหารของรัฐที่เต็มไปด้วยหลายกลุ่มก๊กที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
ที่ผ่านมา PMF เคยส่งเสียงอย่างชัดเจนสนับสนุนกลุ่มก๊กปาเลสไตน์ที่สู้กับอิสราเอล และรัฐบาลอิรัก เคยบอกเช่นกันว่าปฏิบัติการต่างๆ ของฝ่ายปาเลสไตน์ เป็นผลลัพธ์โดยธรรมชาติของสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "นโยบายกดขี่" ของอิสราเอล
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก เล็งเป้าโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักเป็นประจำ และสถานทูตอเมริกาประจำแบกแดด ถูกถล่มด้วยจรวดบ่อยครั้ง แม้ว่าการโจมตีลักษณะดังกล่าวเบาบางลงไปภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงหนึ่งซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ในเยเมน ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวฮูตี กลุ่มนักรบทรงพลานุภาพ เตือนในวันอังคาร (10 ต.ค.) ว่าทางกลุ่มจะตอบโต้การเข้าแทรกแซงใดๆ ของสหรัฐฯ ในฉนวนกาซา ด้วยโดรน ขีปนาวุธและปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ
เขาบอกว่าทางกลุ่มพร้อมเข้าแทรกแซงอย่างพร้อมเพรียงกับสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่มที่เรียกว่า "axis of resistance" ซึ่งเป็นการผนึกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ที่ดูเหมือนเข้าร่วมวงความขัดแย้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขบวนการเคลื่อนไหวฮูตีของเยเมน ต่อสู้กับพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียมาตั้งแต่ปี 2015 ในความขัดแย้งหนึ่งที่เข่นคร่าชีวิตไปหลายแสนคน ระหว่างนั้นได้มีการเล็งเป้าหมายเล่นงานสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ในอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตั้งทางพลังงานในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เยเมนอยู่ในภาวะค่อนข้างสงบมานานนับปีแล้ว ผ่านการเจรจาสันติภาพ
(ที่มา : รอยเตอร์)