แมรี แอกแนส สแตรค-ซิมเมอร์มันน์ ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งรัฐสภาเยอรมนี ส่งเสียงด้วยเห็นกับการจัดหาขีปนาวุธร่อนทอรัส (Taurus) ที่ผลิตโดยเยอรมนี มอบแก่ยูเครน พร้อมอ้างว่าเคียฟมีสิทธิที่จะเล็งเป้าหมายโจมตีในไครเมีย และในแผ่นดินของรัสเซียโดยทั่วไป
จนถึงตอนนี้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ยังคงลังเลที่จะมอบจรวดพิสัยไกลแก่ยูเครน แม้เคียฟส่งเสียงเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Berliner Morgenpost ที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (30 ก.ย.) สแตรค-ซิมเมอร์มันน์ อ้างว่าเบอร์ลินควรส่งมอบขีปนาวุธทอทัสแก่ยูเครนในทันที เนื่องจากการประจำการขีปนาวุธร่อนดังกล่าวจะช่วยกองทัพเคียฟสร้างความปั่นป่วนแก่เส้นทางเสบียงของรัสเซีย
เมื่อถามว่าเธอจะมีปัญหาใดๆ หรือไม่ หากว่าเคียฟอาจใช้ขีปนาวุธดังกล่าวโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในแผ่นดินรัสเซีย สมาชิกรัฐสภารายนี้ตอบกลับมาในแง่ลบ แถมยังพูดด้วยว่า "ในนั้นรวมถึงไครเมียด้วย"
สมาชิกรัฐสภาเยอรมนีรายนี้อ้างกฎหมายระหว่างประเทศที่มอบความชอบธรรมแก่ยูเครน ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารต่างๆ ในนั้นรวมถึงใส่ดินแดนของ "รัสเซีย" ผู้รุกรานด้วย อย่างไรก็ตาม เธอชี้แจงให้ความกระจ่างว่า การตั้งใจใช้ขีปนาวุธทอรัสกับพลเรือนจะเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเดียวกับการประจำการทหารเยอรมนีในยูเครน
พอถูกถามว่าเธอรู้สึกกังวลหรือไม่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะตัดลดความช่วยเหลือที่มอบแก่ยูเครน หากว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวมาเป็นประธานาธิบดีคนถัดไป ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งรัฐสภาเยอรมนี ยอมรับว่าหากปราศจากแรงสนับสนุนจากวอชิงตัน สถานการณ์ความขัดแย้งจะต่างออกไป แต่เธอเน้นย้ำว่า ถ้ายุโรปยังคงเป็นหนึ่งเดียวกันในความพยายามต่างๆ พวกเขาก็จะสามารถแบกรับภาระให้การสนับสนุนยูเครนได้เพียงลำพัง
ในขณะที่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ได้จัดหาขีปนาวุธสตอร์ม ชาโดว์ และขีปนาวุธ SCALP-EG แก่ยูเครน ตามลำดับ แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลเยอรมนียังไม่มีความตั้งใจดำเนินการตาม โดยที่นายกรัฐมนตรีโชลซ์ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หากยูเครนโจมตีลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย มันอาจโหมกระพือสถานการณ์ลุกลามบานปลายครั้งใหญ่ ส่วนเจ้าหน้าที่เยอรมนีคนอื่นๆ บ่งชี้ว่าทางสหรัฐฯ เองยังไม่มีความเคลื่อนไหวแบบเดียวกัน
ขีปนาวุธทอทัส สามารถบรรทุกหัวรบน้ำหนัก 500 กิโลกรัม และมีพิสัยทำการราว 500 กิโลเมตร
อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี เคยกล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนว่า ในขณะที่เธอทราบถึงความปรารถนาครอบครองจรวดเหล่านี้ของยูเครน แต่การส่งมอบอาวุธดังกล่าวไม่ใช่อะไรที่ทำได้อย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องทำงานในทุกรายละเอียดก่อนหน้านั้น
ในส่วนของรัสเซีย เอ่ยปากเตือนมาอย่างต่อเนื่องต่อการที่ตะวันตกจัดหาอาวุธแก่เคียฟ โดยชี้ว่ามันรังแต่จะทำให้ความขัดแย้งนี้ลากยาว และก่อความเสี่ยงเกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างนาโตกับมอสโก
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)