xs
xsm
sm
md
lg

โสมแดงแก้รธน.ยืนยันตัวเองเป็นมหาอำนาจ‘นิวเคลียร์’ ผู้นำ‘คิม’ประณามสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ตั้ง‘นาโตเวอร์ชั่นเอเชีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกาหลีเหนือบัญญัติสถานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ของตนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ ผู้นำ คิม จองอึน ยังเรียกร้องให้เร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการยั่วยุของอเมริกา และประณามความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นว่า เป็น “นาโตเวอร์ชันเอเชีย” ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามของจริงที่เลวร้ายที่สุด

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานข่าวว่า สภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือได้เสร็จสิ้นการประชุมลงเมื่อวันพุธ (27 ก.ย.) โดยรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิ์ในการดำรงอยู่และป้องปรามสงคราม

คิม จองอึน แถลงต่อสภาว่า นโยบายการสร้างกองกำลังนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้รับการตราเอาไว้อย่างถาวรแล้วในฐานะกฎหมายพื้นฐานของประเทศที่ใครก็ไม่อาจดูหมิ่นได้

ประมุขโสมแดงยังย้ำความจำเป็นในการเดินหน้าเพิ่มการผลิตอาวุธนิวเคลียร์แบบก้าวกระโดด และพัฒนาวิธีการโจมตีด้วยนิวเคลียร์และการปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

คิมเสริมว่า การซ้อมรบและการประจำการทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ถือเป็นการยั่วยุอย่างร้ายแรง

ทางด้านกรุงโซล กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้วิจารณ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะท้อนว่า เปียงยางมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะไม่ทิ้งโครงการนิวเคลียร์ พร้อมกับย้ำว่า หากเปียงยางใช้อาวุธนิวเคลียร์ ระบอบปกครองเกาหลีเหนือจะต้องล่มสลาย

ขณะที่ ฮิโรกาสึ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าโฆษกของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยโดยตำแหน่ง กล่าวว่า การพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของญี่ปุ่นและนานาชาติ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากเกาหลีเหนือบัญญัติสิทธิ์ในการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก่อนเพื่อป้องกันตัวเอาไว้ในกฎหมาย และคิมระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้สถานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

คิมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรดาประเทศที่ต่อต้านอเมริกา และประณามความร่วมมือระหว่างอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นว่า เป็นนาโตเวอร์ชันเอเชีย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามของจริงที่เลวร้ายที่สุด

ทั้งนี้ คิมเพิ่งเดินทางกลับประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังการเยือนรัสเซีย ซึ่งเขาได้ประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้กระชับความร่วมมือทางการทหารและเศรษฐกิจระหว่างกัน

เจ้าหน้าที่อเมริกาและเกาหลีใต้แสดงความกังวลว่า เปียงยางอาจต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสำหรับใช้ในโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ขณะที่มอสโกก็อยากได้พวกเครื่องกระสุนจากเปียงยาง เพื่อนำไปเติมคลังแสงที่ร่อยหรอลงสำหรับสงครามในยูเครน

ทางฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า การบัญญัตินโยบายนิวเคลียร์ในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของเกาหลีเหนือว่า ต้องการมีกองกำลังนิวเคลียร์ถาวรและจะไม่ยอมต่อรองใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ยาง มูจิน ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการศึกษาเกาหลีเหนือในโซล ชี้ว่า สงครามเย็นรอบใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และความตึงเครียดทางการทหารบนคาบสมุทรเกาหลีจะเข้มข้นขึ้น

มะกันบอกไม่ใช่สัญญาณพัฒนาการที่ดี
โสมแดงยอมส่งทหารที่หนีทัพกลับบ้าน


การประกาศของสภาประชาชนเกาหลีเหนือ ยังเกิดขึ้นหลังจากสื่อของทางการโสมแดงงรายงานเมื่อวันพุธว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการสอบสวน เกาหลีเหนือตัดสินใจเนรเทศพลทหารเทรวิส คิง ของอเมริกา ที่หนีข้ามแดนเข้าเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกรกฎาคม ขณะที่อเมริกาเปิดเผยว่า ได้ควบคุมตัว คิง เอาไว้แล้วและกำลังเดินทางกลับประเทศ หลังจากเกาหลีเหนือส่งตัวพลทหารผู้นี้ไปที่จีนโดยได้รับความช่วยเหลือจากนักการทูตสวีเดน

คิง ซึ่งเป็นอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาวัย 26 ปี มีปัญหากับตำรวจเกาหลีใต้ หลังดื่มเหล้าในผับและถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาระหว่างเตรียมขึ้นเครื่องบินเพื่อกลับไปรับการพิจารณาโทษทางวินัยที่เทกซัส เขากลับหนีการควบคุมตัวและเข้าปะปนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวในเขตปลอดทหารก่อนหลบหนีข้ามแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ

เดือนที่แล้วเปียงยางยืนยันว่า ได้ควบคุมตัวคิงที่แปรพักตร์เพราะต้องการหนีการปฏิบัติเลวร้ายและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติในกองทัพอเมริกัน

เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารสหรัฐฯ ยืนยันว่า จีนไม่ได้เป็นตัวกลางเจรจาปล่อยตัวคิง ขณะที่แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนว่า การปล่อยตัว คิง เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวก็ะจบลง ไม่ได้เป็นสัญญาณพัฒนาการที่ดีระหว่างอเมริกากับเกาหลีเหนือแต่อย่างใด แต่สำทับว่า วอชิงตันยังคงเปิดกว้างด้านการทูต แม้ถูกเปียงยางปฏิเสธมาตลอดก็ตาม

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น