คณะบริหารไบเดนอนุมัติความช่วยเหลือโดยตรงให้ไต้หวันภายใต้โครงการความช่วยเหลือที่มอบให้รัฐบาลต่างชาติเป็นครั้งแรก ถึงแม้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างว่ายังคงยึดมั่น “นโยบายจีนเดียว” ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นของบประมาณเพิ่มจากปีที่แล้วเกือบล้านล้านเยน บอกจำเป็นเพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือ
คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แจ้งต่อรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.) ถึงเจตนารมณ์ของกระทรวงการต่างประเทศในการให้ความสนับสนุนเป็นมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์แก่ไต้หวัน ภายใต้โครงการเงินช่วยเหลือทางการทหารให้แก่รัฐบาลต่างชาติ (เอฟเอ็มเอฟ) เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการป้องกันตนเองของไต้หวันผ่านศักยภาพทางการทหารร่วมและแบบผสมผสาน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล และศักยภาพด้านการรักษาความปลอดภัยทางทะเล
ที่ผ่านมา คณะบริหารของสหรัฐฯ ไม่ว่าชุดใด มักให้ความช่วยเหลือไต้หวันผ่านการขายอาวุธ ไม่ใช่ในรูปของการให้ความช่วยเหลือโดยตรงเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากโครงการนี้เป็นการที่สหรัฐฯช่วยเหลือรัฐอธิปไตย จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าวอชิงตันจะยอมรับว่าไต้หวันเป็นเอกราชหรือไม่
อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงยืนยันว่า ความช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมเอฟเอ็มเอฟครั้งแรกที่ให้แก่ไทเปนี้ไม่ได้หมายความว่า วอชิงตันยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน โดยที่อเมริกายังคงยึดมั่นนโยบายจีนเดียว และมีความสนใจระยะยาวในสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความมั่นคั่งของภูมิภาคและทั่วโลก
ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงขอบคุณสั้นๆ โดยระบุว่า ความช่วยเหลือของอเมริกาจะส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ขณะที่ อู่ เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวในการแถลงข่าวตามปกติวันพฤหัสฯ (31) เตือนว่าการที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือทางทหารและขายอาวุธแก่ไต้หวัน มีแต่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของสหรัฐฯที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขณะที่สร้างอันตรายต่อความมั่นคงและความอยู่ดีมีสุขของชาวไต้หวัน
ความช่วยเหลือนี้ที่แทบจะแน่นอนแล้วว่า จะได้รับอนุมัติจากคองเกรสนั้น ถูกคาดหมายว่า จะสร้างความไม่พอใจยิ่งยวดต่อจีน ซึ่งถือว่า ไต้หวันเป็นดินแดนของตน และเตือนไม่ให้วอชิงตันกับไทเป “แลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ” ไม่ว่ารูปแบบใดๆ
ก่อนหน้านี้จีนร้องเรียนมาตลอดเรื่องที่อเมริกาให้ความช่วยเหลือและขายอาวุธให้ไต้หวัน กระทรวงกลาโหมแดนมังกรประกาศว่า กองทัพสหรัฐฯ ต้องหยุดการสมรู้ร่วมคิดทางทหารทุกรูปแบบกับไทเป
ทว่า เดือนที่ผ่านมา อเมริกาซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อาวุธสำคัญที่สุดของไต้หวัน ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์แก่ไทเป
สัปดาห์ที่แล้ววอชิงตันยังอนุมัติการขายระบบค้นหาและติดตามเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ด้วยอินฟราเรดและอุปกรณ์อื่นๆ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์
ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้ยื่นของบประมาณเพิ่ม 12% สำหรับปีงบประมาณ 2024 เป็น 7.7 ล้านล้านเยน (52,670 ล้านดอลลาร์) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการล่าสุดของแผนการของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมให้อยู่ที่ 43 ล้านล้านเยนภายในระยะเวลา 5 ปี
คำขอนี้เป็นคำขอปีที่ 2 ซึ่งคิชิดะมุ่งเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมให้อยู่ที่เท่ากับ 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2027 โดยอ้างเหตุผลความกังวลกับการขยายแสนยานุภาพทางทหารของจีน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จีนอาจใช้กำลังเข้ายึดไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งประกาศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอธิปไตยของตน ตลอดถึงการที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะทดสอบนิวเคลียร์อีกในอนาคต
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเวลานี้เลวร้ายลงอีกอย่างรุนแรง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล ทำให้จีนออกมาประณามและแบนอาหารทะเลญี่ปุ่น
คำของบประมาณกลาโหมล่าสุดที่ยื่นต่อกระทรวงคลังเมื่อวันพฤหัสฯ (31) สูงกว่างบประมาณปีที่แล้วเกือบ 1 ล้านล้านเยน ซึ่งหากได้รับอนุมัติจะถือเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารราว 1 ล้านล้านเยนจากปีก่อนหน้าสองปีติดต่อกัน
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นบอกว่ามีแผนจัดสรรงบประมาณนี้กว่า 900,000 ล้านเยนไปจัดซื้อเครื่องกระสุนและอาวุธที่รวมถึงขีปนาวุธจากเรือสู่อากาศ, 380,000 ล้านเยน สำหรับสร้างเรือรบใหม่ 2 ลำที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิสของอเมริกา, กว่า 300,000 ล้านเยนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ขนส่ง, 75,000 ล้านเยนสำหรับการร่วมพัฒนาขีปนาวุธสกัดกั้นกับอเมริกาเพื่อใช้สกัดขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก, และ 64,000 ล้านเยนสำหรับการสร้างเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ร่วมกับอังกฤษและอิตาลี เป็นต้น