xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ ‘เอเวอร์แกรนด์’ ยื่นขอล้มละลายที่สหรัฐฯ ไม่ใช่ในเมืองจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


โลโก้ของกลุ่มเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป ประดับอยู่บนอาคารที่พักอาศัยในเมืองหนานจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของจีนในภาพนี้ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2023 ทั้งนี้ ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จีนที่กำลังลำบากมากรายนี้ได้ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายต่อศาลในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. โดยระบุว่าเพื่อจะได้มีเวลาในการปรับโครงสร้างหนี้สินก้อนมหึมาของตน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Evergrande’s debt case hits China’s stock markets
By JEFF PAO
19/08/2023

พวกคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนคิดว่า เจ้าหนี้ต่างประเทศทั้งหลายของกลุ่มเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป จะมองกันว่าแผนการของบริษัทที่ต่อรองขอตัดลดยอดหนี้สินซึ่งจะต้องชดใช้ไถ่ถอนลงมา หรือที่เรียกกันว่า “แฮร์คัต” อย่างไรเสียก็จะได้เงินทองกลับคืนมามากกว่าการปล่อยให้บริษัทนี้ล้มเลิกกิจการและนำเอาทรัพย์สินที่เหลืออยู่มาแบ่งสรรกันในหมู่เจ้าหนี้

กลุ่มเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป (Evergrande Group) เพิ่งยื่นเรื่องต่อศาลในสหรัฐฯ เพื่อขอความคุ้มครองจากพวกเจ้าหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย ขณะทางกลุ่มกำลังพยายามดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สินมหาศาลของตน ปรากฏว่าความเคลื่อนไหวคราวนี้ได้สร้างภาระหนักให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ของจีน เนื่องจากมันกลายเป็นเชื้อเพลิงโหมเพิ่มความวิตกกังวลของพวกนักลงทุนเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของประเทศจีน

เอเวอร์แกรนด์ยื่นขอความคุ้มครองต่อศาลในแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ตามบรรพ 15 (Chapter 15) ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯ (US bankruptcy code) ซึ่งสามารถนำมาบังคับใช้ได้เมื่อกรณีการล้มละลายที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องพัวพันกับหลายๆ ประเทศ ทางเอเวอร์แกรนด์แถลงว่าตนจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองของศาลจากพวกเจ้าหนี้ ในเวลาที่บริษัทใช้ความพยายามหาทางปรับโครงสร้างหนี้สิน ระหว่างการเจรจาต่อรองซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในฮ่องกงและที่หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) ทั้งนี้ บรรพ 15 ของกฎหมายล้มละลายนี้เป็นตัวบทกฎหมายที่รู้จักกันและถูกนำมาใช้กันน้อยกว่าบรรพ 7 และบรรพ 11 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว

หุย คาเอียน (Hui Ka-yan) ประธานของเอเวอร์แกรนด์ อธิบายในคำชี้แจงส่งถึงตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ว่า การยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายของบริษัท เป็นกระบวนวิธีปฏิบัติตามปกติสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สินที่อยู่นอกสหรัฐฯ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยื่นขอล้มละลายจริงๆ เขาบอกด้วยว่าบริษัทกำลังผลักดันเดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้สินที่กระทำนอกสหรัฐฯ ตามแผนการที่วางเอาไว้แล้ว
(หุย คาเอียน Hui Ka-yan 许家印 ชื่อนี้ในภาษาจีนกลางอ่านว่า สีว์ เจียอิ้น Xu Jiayin ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Hui_Ka_Yan)
(ดูเพิ่มเติมหนังสือชี้แจงนี้ได้ที่ https://www1.hkexnews.hk/listedco/listconews/sehk/2023/0818/2023081800635.pdf)

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งแห่งนี้ ได้ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2021 และเริ่มการปรับโครงสร้างหนี้สินของตนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในการยื่นข้อความคุ้มครองตามบรรพ 15 เมื่อวันพฤหัสบดี (17 ส.ค.) ครั้งนี้ บริษัทได้เสนอให้เปิดการไต่สวนพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 20 กันยายน

ปรากฏว่า ดัชนีหุ้นหั่งเส็ง (Hang Seng Index) ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ได้รับความเชื่อถือในการใช้วัดภาวะความเป็นไปของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้ตกลงมา 375 จุด หรือ 2.1% จนปิดตลาดที่ระดับ 17,950 เมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน รวมทั้งอยู่ต่ำกว่าระดับจิตวิทยาสำคัญที่ 18.000 อีกด้วย ขณะที่ดัชนีหุ้นรวมของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Composite Index) ร่วง 31 จุด หรือ 1% ลงมาอยู่ที่ระดับ 3,131 ตอนปิดตลาดวันศุกร์ (18 ส.ค.) เช่นกัน

อันที่จริงหากมองกันในระยะยาวกว่านี้ ดัชนีหุ้นหั่งเส็งได้ไหลรูดลงแล้ว 10.6% ภายในเดือนนี้ เวลาเดียวกันดัชนีหุ้นรวมของตลาดเซี่ยงไฮ้ก็ถอยลงมา 4.8% ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันอังคาร (15 ส.ค.) ว่า พวกกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกหลายรายกำลังเทขายหุ้นจีนในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนนี้ สืบเนื่องจากความหวาดกลัววิกฤตการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

ไซมอน ลี ซิวโป (Simon Lee Siu-po) อาจารย์อาวุโสคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ให้ความเห็นกับสื่อมวลชนฮ่องกงว่า หากได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายในสหรัฐฯ แล้ว เอเวอร์แกรนด์ก็สามารถป้องกันไม่ให้พวกธนาคารอเมริกันยื่นฟ้องร้องตน เป็นการซื้อเวลาเพิ่มมากขึ้นสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สินซึ่งอยู่ในต่างแดน รวมทั้งยังดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตนต่อไปได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.stheadline.com/stock-market/3264371/%E6%81%92%E5%A4%A7%E7%82%BA%E4%BD%95%E8%B7%91%E5%8E%BB%E7%BE%8E%E5%9C%8B%E7%A0%B4%E7%94%A2%E5%AD%B8%E8%80%85%E8%AE%9A%E9%AB%98%E6%8B%9B-%E6%96%99%E7%A2%A7%E6%A1%82%E5%9C%92%E5%8F%AF%E4%BB%BF%E6%95%88)

อาจารย์ลี มองว่า มันเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่เอเวอร์แกรนด์ไม่ได้ขอล้มละลายในประเทศจีน เนื่องจากหากล้มละลายในจีนแล้วจะทำให้งานก่อสร้างทั้งหลายของบริษัทในแดนมังกรถูกสั่งระงับทำต่อไปไม่ได้ นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อพวกเจ้าหนี้ของบริษัทอีกด้วย

เขาคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่พวกบริษัทนักพัฒนาอาคารและที่ดินของจีนซึ่งติดหนี้สินรุงรังรายอื่นๆ เป็นต้นว่า คันทรีการ์เดน (Country Garden) จะยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่ายิ่งมีการยื่นเรื่องในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าใด มันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่ความเชื่อมั่นที่พวกนักลงทุนต่างชาติมีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

หลิว เจ๋อเฟิง (Liu Zefeng) ทนายความที่ประจำอยู่ในปักกิ่งของสำนักงานกฎหมาย จิงเจ๋อ (Jing Zhe Law Firm) บอกกับสื่อมวลชนจีนแผ่นดินใหญ่ว่า ในสหรัฐฯ บริษัทใดก็ตามย่อมสามารถยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายได้ ถ้าภาระหนี้สินของตนมีมูลค่าสูงกว่าทรัพย์สิน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://new.qq.com/rain/a/20230818A024RX00)

“ถ้าบริษัทใดประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้สินของตน บริษัทนั้นๆ ก็สามารถที่จะ ‘ฟื้นชีพจากความตายและกลับมามีชีวิตอีกครั้ง’” หลิวบอกพร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “โอกาสของเอเวอร์แกรนด์ที่จะประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้ถือว่าสูงทีเดียว เพราะในการยินยอมลดหย่อนหนี้ หรือที่เรียกว่า แฮร์คัต ถึงยังไงพวกเจ้าหนี้ก็จะได้เงินคืนมามากกว่าการให้บริษัทเลิกกิจการแล้วนำทรัพย์สินมาแบ่งสรรให้พวกเจ้าหนี้”

เขากล่าวด้วยว่า การปรับโครงสร้างหนี้ หรือกระทั่งการเลิกกิจการของเอเวอร์แกรนด์ ไม่น่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อพวกผู้ซื้อบ้านชาวจีน เนื่องจากพวกเขาจะได้รับความคุ้มครองเป็นอย่างดีจากกฎหมายต่างๆ ของจีน

อย่างไรก็ตาม เอเวอร์แกรนด์กำลังเผชิญความท้าทายต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประสบการขาดทุนอย่างมโหฬารและมีภาระหนี้สินมหึมา รวมทั้งพวกกิจการในเครือต่างมีราคาหุ้นลดต่ำย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

บริษัทแถลงเอาไว้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมว่า ขาดทุนสะสมรวม 803,000 ล้านหยวน (ราว 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2021 และปี 2022 ขณะที่ ณ สิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทมีหนี้สินเดินสะพัดสุทธิ (net current liabilities) ที่ 687,700 ล้านหยวน และมีหนี้สินรวม (total liabilities) ทั้งสิ้น 2.44 ล้านล้านหยวน

หุย คาเอียน หรือ สีว์ เจียอิ้น ประธานวัย 64 ปีของกลุ่มเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป นิตยสารฟอร์บส์ประเมินว่า ถึงแม้ความมั่งคั่งของเขาจะหดหายลงไปมาก จากการที่บริษัทของเขาประสบปัญหาหนักหน่วง  แต่เวลานี้เขายังคงเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน (Bllionaire) โดยมีทรัพย์สินสุทธิคำนวณแบบเรียลไทม์ ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2023 เท่ากับ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.forbes.com/profile/hui-ka-yan/?list=billionaires&sh=60c1b2b7372b)
2 ข้อเสนอหลัก

หุ้นของเอเวอร์แกรนด์ถูกสั่งพักการซื้อขายมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 สืบเนื่องจากบริษัทดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สินนอกประเทศ โดยตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์นั้น ถ้าไม่สามารถนำหุ้นกลับเข้าไปซื้อขายได้ใหม่ภายในวันที่ 20 กันยายนนี้ หุ้นตัวนี้จะถูกเพิกถอนออกจากตลาดไป

เมื่อวันที่ 22 มีนาคมปีนี้ เอเวอร์แกรนด์แถลงว่า ได้มีการสนทนากันอย่างสร้างสรรค์กับพวกผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและมีหลักประกันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (US dollar-denominated senior secured notes) ของบริษัทตลอดจนของพวกบริษัทในเครือ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www1.hkexnews.hk/listedco/listconews/sehk/2023/0322/2023032201427.pdf)

โดยบริษัทเสนอทางเลือก 2 ทางให้แก่พวกเจ้าหนี้ของตนว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้ใหม่ที่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนในอีก 10 ถึง 12 ปีข้างหน้า หรือไม่ก็เป็นหุ้นกู้ซึ่งสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้น จำนวน 21.57% ของตราสารเอเวอร์แกรนด์ พร็อบเพอร์ตี เซอร์วิเซส (Evergrande Property Services หรือ EVPS) และหุ้นจำนวน 28.54% ของตราสารเอเวอร์แกรนด์ นิว เอเนอจี เวฮิเคิล (Evergrande New Energy Vehicle หรือ NEV)

ปรากฏว่า หุ้นกู้แปลงสภาพได้เหล่านี้มีมูลค่าเพียงแค่เท่ากับ 9,380 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เท่านั้น ณ ราคาซื้อขายปัจจุบันของ EVPS และ NEV โดยตราสารเหล่านี้จะเทียบเท่ากับ 6.3% ของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและมีหลักประกันที่ยังไม่มีการชำระเงิน

ราคาหุ้นของ EVPS หล่นลงมา 9.1% จนปิดตลาดที่ 60 เซนต์ฮ่องกง ส่วนราคาหุ้นของ NEV ร่วง 16% มาอยู่ที่หุ้นละ 1.26 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันศุกร์ (18 ส.ค.) ทั้งนี้ หุ้นของ EVPS และ NEV หดหายไป 60% และ 73.9% ตามลำดับ จากระดับที่เคยทำได้เมื่อเดือนมีนาคม

ในวันที่ 14 สิงหาคม เอเวอร์แกรนด์แถลงว่า NWTN บริษัทที่ตั้งฐานอยู่ในดูไบและจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ได้ตกลงเข้ามาซื้อหุ้น 27.5% ใน NEV ด้วยราคา 500 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 63 เซนต์ฮ่องกงต่อหุ้น ซึ่งจะเท่ากับลดราคาลงมา 59% จากราคาปิดตลาดเฉลี่ยของ 5 วันทำการท้ายสุดที่ผ่านมา ที่เท่ากับ 1.55 ดอลลาร์ฮ่องกง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www1.hkexnews.hk/listedco/listconews/sehk/2023/0814/2023081401581.pdf)

ทางด้านหนังสือพิมพ์ ซีเคียวริตีส์ไทมส์ (Securities Times) ซึ่งอยู่ในเครือของเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานว่า NWTN ที่
เดิมเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ICONIQ ก่อตั้งโดยชายชาวมณฑลเจ้อเจียง วัย 41 ปี ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า อู่ หนาน (Wu Nan) เมื่อปี 2014 โดย ณ สิ้นปี 2022 บริษัทนี้มีเงินสดและสินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดรวม 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 71.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายงานนี้ระบุด้วยว่า NWTN มีรายรับเท่ากับ 0 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NWTN ได้ที่ https://www.nwtnmotors.com/?Investors)
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อู่ หนาน ได้ที่ http://www.nbd.com.cn/rss/toutiao/articles/2961446.html)

ตามข้อตกลงระหว่างเอเวอร์แกรนด์กับ NWTN ทางเอเวอร์แกรนด์จะออกหุ้นกู้แปลงสภาพสำหรับหุ้น NEV ให้แก่พวกเจ้าหนี้ของตน โดยที่ NWTN จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ NEV

เอเวอร์แกรนด์เคยแถลงเอาไว้เมื่อเดือนมีนาคมว่า ถ้าตนถูกบังคับให้ล้มเลิกกิจการแล้ว พวกผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและมีหลักประกันของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ จะได้รับเงินคืนไปราวๆ 5.92% ถึง 9.34% ของเงินทุนที่มาลงเอาไว้เท่านั้น ขณะที่พวกเจ้าหนี้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิรายที่อยู่ในต่างแดน จะได้เงินคืนไป 2.05% ถึง 3.53% เท่านั้น

ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา บริษัทได้ยืดเวลาไถ่ถอนคืนหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายในตลาดภายในประเทศมาแล้วรวม 9 งวด รวมเป็นเงินต้นประมาณ 53,500 ล้านหยวน และดอกเบี้ยอีก 3,700 ล้านหยวน นอกจากนั้น บริษัทยังไม่สามารถชำระหนี้สินภายในประเทศได้ตามกำหนดอีกรวมทั้งสิ้น 749,200 ล้านหยวน ในจำนวนนี้เป็นหนี้สิ้นที่มีดอกเบี้ย 208,400 ล้านหยวน ตราสารการพาณิชย์ 326,300 ล้านหยวน และหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น (contingent liabilities) อีก 157,300 ล้านหยวน ทั้งนี้ ณ ตอนสิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา

บริษัทบอกว่า จะต้องระดมเงินทุนให้ได้ราวๆ 250,000 ล้าน ถึง 300,000 ล้านหยวนในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อดำเนินภารกิจหลักของตนในการ “รับประกันว่าจะมีการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์” ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น