xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่นับเรือดำน้ำ! ไทยอันดับ 21 กองทัพเรือทรงแสนยานุภาพสุดในโลก 1 ชาติอาเซียนติดท็อป 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเอพี
เว็บไซต์ World Directory of Modern Military Warships (WDMMW) ทำการจัดอันดับกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ครอบคลุม 36 ชาติ ปรากฏว่าสหรัฐฯ รั้งอันดับ 1 ตามมาด้วยจีนและรัสเซีย แต่ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย ที่ถึงขั้นครองอันดับ 4 ในขณะที่ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 21 แต่แสนยานุภาพที่มีนั้นยังไม่นับรวมเรือดำน้ำ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์เมื่อวันจันทร์ (7 ส.ค.)

เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงาน WDMMW จัดอันดับมหาอำนาจกองทัพเรือโลก วัดจากจำนวนเรือรบและเรือดำน้ำโดยรวม อายุกองเรือ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ขีดความสามารถในการโจมตีและป้องกัน ความหลากหลายของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มี การกระจุกตัวของอาวุธยุทโธปกรณ์ในพื้นที่หนึ่ง

นอกจากนี้ ทาง WDMMW ยังดูจากสมดุลของเรือแต่ละประเภท จำนวนรวมเรือส่วนใหญ่แต่ไม่รวมเรือขนาดเล็ก เรือสำรวจ และเรือพิธีการประวัติศาสตร์ การจัดอันดับแยกระหว่างเรือรบคลาสต่างๆ ตั้งแต่เรือคอร์เวตขนาดเล็ก เรือฟริเกต เรือพิฆาตขนาดใหญ่ และเรือลาดตระเวน แล้วประเมินออกมาเป็น "คะแนนมูลค่าที่แท้จริง (True Value Rating)"

กองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองอย่างกว้างกันมานานแล้วว่าเป็นกองทัพเรือทรงแสนยานุภาพมากที่สุดในโลก ถูกยกให้เป็นอันดับ 1 ของกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของทาง WDMMW โดยทาง WDMMW ให้คะแนนมูลค่าที่แท้จริง 323.9 สูงที่สุด

WDMMW ระบุว่าที่สหรัฐฯ ได้คะแนนสูงเช่นนี้ เพราะว่าพวกเขาผสมผสานเรือรบและเรือดำน้ำหลากชนิด เช่นเดียวกับสมดุลความเข้มแข็งจากจำนวนสินทรัพย์โดยรวม นำโดยกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่โต

ข้อมูลจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2022 กองทัพเรือสหรัฐฯ มีสินทรัพย์ที่ใช้งานได้ทั้งสิ้น 243 ลำ ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ เรือดำน้ำ 68 ลำ เรือลาดตระเวน 22 ลำ เรือพิฆาต 70 ลำ เรือคอร์เวต 21 ลำ เรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิด 8 ลำ เรือตรวจตรานอกชายฝั่ง 10 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 33 ลำ ไม่มีเรือฟริเกต

ทาง WDMMW บอกว่าสหรัฐฯ มีสมดุลที่ดีในแง่ของชนิดของทรัพย์สินและมีอายุใช้งานเฉลี่ยที่ 23.3 ปี นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ สั่งต่อเรือเพิ่มอีก 67 ลำ ส่งสัญญาณว่าพวกเขา "พยายามรักษาระยะห่างกับจีนผู้เป็นคู่แข่งระดับโลก"

อันดับ 2 จีน ทาง WDMMW ระบุว่า จีนที่ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางนาวี มีกองเรือขนาดใหญ่ที่สุดในการจัดอันดับของ WDMMW โดยจากข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม 2023 มีทรัพย์สินที่ใช้งานได้ 425 ลำ
พวกเขามีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ เรือดำน้ำ 72 ลำ เรือพิฆาต 48 ลำ เรือคอร์เวต 44 ลำ เรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิด 49 ลำ เรือตรวจตรานอกชายฝั่ง 127 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 11 ลำ แต่ไม่มีเรือเรือลาดตระเวน

ข้อมูลของ WDMMW ระบุว่า สินทรัพย์ของกองทัพเรือจีนมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าสหรัฐฯ ที่ 13.8 ปี แต่มีเรือที่กำลังสั่งต่อก็น้อยกว่าด้วยจำนวน 14 ลำ โดยทาง WDMMW บอกว่ากองทัพเรือจีนมีสมดุลที่ดีในทรัพย์สิน และให้ค่า True Value Rating อยู่ที่ 318.9

รัสเซียตามมาเป็นอันดับ 3 โดยทาง WDMMW ระบุว่าจนถึงเดือนมีนาคม 2023 กองทัพเรือรัสเซียมีสินทรัพย์ในคลังแสงที่ใช้งานได้ 265 ลำ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์จำนวนมากของรัสเซียมีอายุเก่าเก็บ ในนั้นรวมถึงแอดมิรัล คุซเนตซอฟ เรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งเดียวของพวกเขา

ในบรรดาเรือดำน้ำ 58 ลำ เรือพิฆาต 12 ลำและเรือลาดตระเวน 4 ลำ จำนวนมากก็มีอายุเก่าเก็บเช่นกัน โดยอายุเฉลี่ยของกองทัพเรือรัสเซียอยู่ที่ 30 ปี นอกจากนี้ รัสเซียยังมีเรือฟริเกต 1 ลำ เรือคอร์เวต 83 ลำ เรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิด 28 ลำ เรือตรวจการณ์นอกชายฝั่ง 27 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 21 ลำ

WDMMW เน้นว่ารัสเซียกำลังพยายามปรับปรุงกองทัพเรือให้มีความทันสมัย และกำลังสั่งต่อเรืออีกจำนวนมาก ราว 82 ลำ และมีความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่จะมีเรือคอร์เวต เรือดำน้ำและเรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิดใหม่ๆ

ทาง WDMMW ให้ค่า True Value Rating ของรัสเซียที่ 242.3 และบอกว่าพวกเขามีความสมดุลในกองกำลังที่ดี

ทั้งนี้ แม้กองทัพรัสเซียสูญเสียยุทโธปกรณ์สำคัญๆ ไปบางส่วนในปฏิบัติการรุกรานยูเครน แต่กองทัพเรือไม่ได้มีบทบาทสำคัญต่อการโจมตีดังกล่าว ทำให้กองเรือส่วนใหญ่ของพวกเขายังอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหนึ่งในความสูญเสียสำคัญของรัสเซียคือ เรือมอสควา เรือธงในทะเลดำซึ่งถูกเล่นงานโดยขีปนาวุธลูกหนึ่งของยูเครน

อันดับ 4 ได้แก่อินโดนีเซีย โดย WDMMW ให้ค่า True Value Rating ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย อยู่ที่ 137.7 ในขณะที่จนถึงเดือนกรกฎาคม 2023 พวกเขามีทรัพย์สินที่ใช้งานได้ 243 ลำ

อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำ 4 ลำ เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 25 ลำ เรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิด 9 ลำ เรือตรวจตรานอกชายฝั่ง 168 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 30 ลำ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือลาดตระเวน หรือเรือพิฆาต

ทั้งนี้ WDMMW ระบุว่ากองทัพเรือของอินโดนีเซียมีสมดุลในทรัพย์สินในระดับปานกลาง มีอายุเฉลี่ย 21.8 ปี

ส่วนอันดับรองๆ ลงไป จากการจัดอันดับของ WDMMW ประกอบด้วย 5.เกาหลีใต้ 6.ญี่ปุ่น 7.อินเดีย 8.ฝรั่งเศส 9.สหราชอาณาจักร และ 10.ตุรกี ส่วนอันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจก็มี 12.ไต้หวัน 14.เกาหลีเหนือ 18.เยอรมนี 19.อิหร่าน 20.ออสเตรเลีย และไทย อันดับที่ 21

ในส่วนของไทยนั้น ทาง WDMMW ระบุว่าจนถึงเดือนมกราคม 2023 คลังแสงของกองทัพเรือที่ใช้งานได้ทั้งสิ้น 86 ลำ ประกอบด้วยเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ เรือฟริเกต 7 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ เรือทุ่นระเบิด/ต่อต้านทุ่นระเบิด 5 ลำ เรือลาดตระเวนนอกชายฝั่ง 51 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม 12 ลำ

WDMMW ระบุว่าไทยยังไม่มีเรือดำน้ำ และให้คำจำกัดความกองทัพเรือของไทยว่าเป็น "กองกำลังผิวน้ำสร้างขึ้นเน้นการป้องกันในท้องถิ่นและภูมิภาค" ทั้งยังระบุว่า ไทยมีชายฝั่งยาว และมีเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย

นอจากนี้ WDMMW เน้นว่าไทยไม่มีเรือลาดตระเวน แต่กำลังประสานซื้อเรือดำน้ำจากจีน ในขณะที่อายุเฉลี่ยของกองเรือไทยอยู่ที่ 25.6 ปี และความสมดุลในกองกำลังระดับปานกลาง พร้อมกับให้คะแนน True Value Rating ที่ 47.6

(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)


กำลังโหลดความคิดเห็น