xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ‘หนุ่มสาวจีน’ ถอดใจไม่หางานทำ ขอเป็น ‘ลูกฟูลไทม์’ ให้พ่อแม่เลี้ยง ขณะปักกิ่งห่วงเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง เร่งออกมาตรการส่งเสริมการบริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


ผู้คนขึ้น-ลงบันไดเลื่อนที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2023)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China boosts consumption as services activity slows
By JEFF PAO
01/08/2023

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายแสดงความกังวลว่า การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน จะทำให้ปัญหาการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ประเทศจีนประกาศในวันจันทร์ (31 ก.ค.) เรื่องมาตรการใหม่ๆ 20 มาตรการที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ตัวเลขอัตราการเติบโตขยายตัวของกิจกรรมทั้งในภาคบริการและภาคก่อสร้างในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงถึงการชะลอตัวลง

มาตรการกระตุ้นสนับสนุนเหล่านี้ มีทั้งเรื่องการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในการเป็นเจ้าของรถยนต์ การเร่งรัดพวกโครงการปรับปรุงเขตชุมชนเมืองในนครใหญ่ๆ และการเปิดการรณรงค์ต่างๆ หลายหลากซึ่งมุ่งกระตุ้นส่งเสริมผู้คนให้เดินทางท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน และชอปปิ้งซื้อข้าวของ ทั้งนี้ตามคำแถลงของคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gov.cn/zhengce/content/202307/content_6895599.htm)

ขณะที่คณะรัฐมนตรีของจีน (State Council) แถลงย้ำว่า กระทรวงทบวงกรมทั้งหมดของรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ควรช่วยเหลือผลักดัน 20 มาตรการเหล่านี้ ทว่าไม่ได้มีการประกาศให้การสนับสนุนทางการคลังใดๆ

มาตรการจูงใจเหล่านี้ถูกนำออกมาใช้ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) แถลงในวันจันทร์ (31 ก.ค.) เช่นกันว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers’ index หรือ PMI) สำหรับนอกภาคอุตสาหกรรมการผลิต (non-manufacturing) ที่เป็นตัวเลขของทางการจีน (China’s official) ได้ลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 51.5 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดภายหลังจากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.stats.gov.cn/sj/sjjd/202307/t20230731_1941627.html)

ดัชนี PMI นั้น ถ้าตัวเลขสูงกว่า 50 คือเครื่องบ่งชี้ว่ามีการขยายตัว ขณะที่หากต่ำกว่า 50 ก็แสดงถึงการหดตัว

รองประธานคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูป หลี่ ชุนหลิน (Li Chunlin) แถลงในวันจันทร์ (31 ก.ค.) ว่า ถึงแม้ภาคบริการจัดทำอาหาร การท่องเที่ยว และโรงภาพยนตร์ ต่างมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ผู้บริโภคบางส่วนยังคงมีความลังเลที่จะซื้อสินค้าข้าวของ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://big5.china.com.cn/gate/big5/finance.china.com.cn/news/20230731/6015654.shtml)

หลี่ บอกว่า ผู้คนยังคงหลีกเลี่ยงไม่อยากใช้จ่าย เนื่องจากพวกเขาผ่านประสบการณ์แย่ๆ ในฐานะผู้ใช้บริการ ซึ่งสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ด้วยนโยบายต่างๆ นอกจากนั้นเขาบอกว่า ทางรัฐบาลระดับท้องถิ่นควรทำให้เกิดความแน่ใจว่าคนงานตามโรงงานต่างๆ สามารถใช้วันลาหยุดพักผ่อนประจำปีโดยได้รับเงินเดือนของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถใช้จ่ายเงินทองและช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว

จีนได้ออกกฎหมายแรงงานมาตั้งแต่ปี 1994 ซึ่งรับประกันว่าคนงานสามารถลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน ทว่าคนงานถึง 72% ทีเดียวไม่สามารถใช้สิทธิเรื่องนี้ของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งนี้ตามรายงานของลีกัล เดลี่ (Legal Daily) หนังสือพิมพ์เน้นข่าวสารด้านกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โดยเฉลี่ยแล้ว พวกคนงานในภาคเอกชนลงท้ายใช้วันลาหยุดพักผ่อนประจำปีของพวกเขาได้ไม่ถึง 4 วันเต็มๆ ต่อปีด้วยซ้ำ รายงานนี้ของลีกัล เดลี่ บอกโดยอ้างอิงข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม (Ministry of Human Resources and Social Security)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.news.cn/politics/2023-03/28/c_1129469719.htm)

มีนักเศรษฐศาสตร์บางรายคาดการณ์ว่า ดัชนี PMI นอกภาคอุตสาหกรรมของจีนอาจหล่นลงสู่ระดับหดตัวอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากพวกมาตรการสนับสนุนที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้จะแสดงผลก็ต้องถึงช่วงหลังๆ ของปีนี้แล้ว

ภาคเศรษฐกิจที่อยู่นอกภาคอุตสาหกรรมของจีนแสดงให้เห็นถึง “การมีอัตราเติบโตชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดหมายกันไว้ และการลดต่ำลงไปกว่านี้อาจได้เห็นดัชนี้หล่นลงสู่ภาวะหดตัว” โรเบิร์ต คาร์เนลล์ (Robert Carnell) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของไอเอ็นจี เขียนเอาไว้เช่นนี้ในรายงานวิจัยฉบับหนึ่ง

“เมื่อนำเอาภาคเศรษฐกิจนอกภาคอุตสาหกรรมนี้มาแยกย่อยพิจารณา สิ่งที่เตะตาคุณมากที่สุดก็คือ ส่วนประกอบย่อยๆ ของภาคนี้แทบทั้งหมดกำลังแสดงให้เห็นถึงการหดตัวเรียบร้อยแล้ว” เขากล่าว “ส่วนประกอบหนึ่งเดียวที่ยังคงยืนโดดเด่นจากส่วนประกอบอื่นๆ ที่เหลือ ก็คือ ความคาดหวัง ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นส่วนอยู่นอกวงที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบส่วนอื่นๆ ที่กำลังจะไปถึงไหนต่อไหน”

“ขณะที่เราเชื่อว่าการออกมาตรการระดับไมโครจำนวนมากๆ อย่างขนานใหญ่ เมื่อมีการนำมาใช้จะทำให้การทำงานของเศรษฐกิจกระเตื้องดีขึ้น รวมถึงลดความตึงตัวต่างๆ ในภาคเอกชนด้วย แต่เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าจะมีการเตรียมปืนบาซูก้าด้านการคลังรอเอาไว้ เพื่อยิงส่งให้เศรษฐกิจพุ่งขึ้นไป” เขากล่าวต่อ

ขอเป็น “ลูกฟูลไทม์เต็มเวลา”

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ดัชนี PMI ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้กิจกรรมของโรงงานต่างๆ ได้กระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยจากระดับ 49 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 49.3 ในเดือนกรกฎาคม กระนั้นตัวเลขล่าสุดนี้ยังคงแสดงให้เห็นถึงการหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่ดีมานด์ความต้องการจากสหรัฐฯและยุโรปยังคงอ่อนตัว สำหรับดัชนี PMI โดยรวมนั้นตกลงมาจากระดับ 52.3 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 51.1 ในเดือนกรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.stats.gov.cn/sj/zxfb/202307/t20230731_1941624.html)

ดัชนีย่อยตัวที่ติดตามพวกออร์เดอร์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบย่อยหนึ่งที่ถูกจับตากันมาก ของดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม ปรากฏว่ากระเตื้องขึ้นบ้าง โดยอยู่ที่ 49.5 ในเดือนกรกฎาคม เปรียบเทียบกับระดับ 48.6 ในเดือนมิถุนายน กระนั้นก็เท่ากับยังคงรักษาสภาพที่อยู่ในภาวะหดตัวเอาไว้อย่างที่เป็นมาตั้งแต่เดือนเมษายน

“ถึงแม้ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นมาที่ 49.3 ในเดือนกรกฎาคม แต่บางบริษัทยังคงพูดว่าสภาพแวดล้อมภายนอกเวลานี้สลับซับซ้อนและยากลำบาก โดยออเดอร์จากต่างประเทศมีลดน้อยลง และดีมานด์ที่ไม่เพียงพอยังคงเป็นความยากลำบากสำคัญที่สุดซึ่งเผชิญหน้าวิสาหกิจต่างๆ อยู่” เจ้า ชิงเหอ (Zhao Qinghe) เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวในคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (31 ก.ค.)

เจ้า บอกว่าภาคอุตสาหกรรมในโลกตะวันตกก็กำลังหดตัวเหมือนกัน โดยดัชนี PMI ของภาคนี้ในสหรัฐฯ และยูโรโซนในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 49 และ 42.7 ตามลำดับ

ทางด้าน อู่ เฉาหมิง (Wu Chaoming) รองผู้อำนวยการของสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศเชสซิ่ง (Chasing International Economic Institute) ให้ความเห็นว่า อัตราขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของจีนได้ชะลอตัวลงเนื่องจากการลดต่ำของดีมานด์จากภายนอกช่วงระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ อู่กล่าวอีกว่า ในครึ่งหลังของปีนี้ การกระตุ้นเพิ่มพูนดีมาน์ภายในจะเป็นภารกิจทางเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของรัฐบาล เนื่องจากมันสามารถช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.eastmoney.com/a/202307312797858558.html)

มีคอลัมนิสต์ด้านการเงินซึ่งตั้งฐานอยู่ที่มณฑลเสฉวนผู้หนึ่ง เขียนเอาไว้ในบทความที่นำออกเผยแพร่เร็วๆ นี้ บอกว่า เศรษฐกิจจีนเวลานี้กำลังเผชิญความท้าทายใน 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ อัตราการว่างงานในหมู่เยาวชนที่สูงลิบลิ่ว การลดฮวบของออเดอร์จากต่างประเทศ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนปวกเปียก เขาเสนอว่ารัฐบาลส่วนกลางควรประกาศใช้มาตรการทางการเงินและทางการคลังเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างตำแหน่งงาน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1772569377122555020&wfr=spider&for=pc)

นักเศรษฐศาสตร์บางรายย้ำว่า การที่โรงงานต่างๆ มีกิจกรรมหดตัวลง จะทำให้สถานการณ์ตลาดงานของประเทศจีนยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ตามตัวเลขที่แถลงโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม อัตราการว่างงานของผู้คนที่อยู่ในวัย 16-24 ปี ไต่สูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 21.3% ในเดือนมิถุนายน จาก 20.8% ในเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่หลายรายในสำนักงานแห่งนี้กล่าวว่าตัวเลขนี้จะขยับสูงขึ้นไปในเดือนกรกฎาคม แต่คาดหวังว่าจะเริ่มต้นผ่อนคลายลงเมื่อพวกผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้รับการว่าจ้างเข้าทำงานในช่วงหลังเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://m.thepaper.cn/quickApp_jump.jsp?contid=23879032)

จาง ตันตัน (Zhang Dandan) รองศาสตราจารย์ของวิทยาลัยการพัฒนาแห่งชาติ (National School of Development) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ย้ำว่าสังคมต้องให้ความใส่ใจแก่อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวในประเทศจีนซึ่งอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ เนื่องจากปัญหานี้อาจส่งผลทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางสังคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://finance.sina.com.cn/cj/2023-07-25/doc-imzcxiwp3999253.shtml
และ https://news.ifeng.com/c/8RYQttgt4rR)

เธอชี้ว่า อัตราการว่างงานของเยาวชนในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 14.3% ในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 11.3% ขณะที่ทั้งในสหรัฐฯและเกาหลีใต้อยู่ที่ 6.5% ส่วนในญี่ปุ่นอยู่ที่ 5%

เธอเตือนว่า คนวัยหนุ่มสาวราว 16 ล้านคนในประเทศจีนได้สูญเสียพลังกระตุ้นในการหางานทำ และเลือกที่จะให้พ่อแม่ของพวกเขาเป็นคนจ่ายเงินเลี้ยงดู กลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า ลูกฟูลไทม์เต็มเวลา เธอชี้ว่าถ้าหากนำเอาผู้คนเหล่านี้รวมเข้าไปในประชากรที่ไม่มีงานทำด้วยแล้ว อัตราการว่างงานของเยาวชนของประเทศควรที่จะอยู่ในระดับราวๆ 46.5% ทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น