คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. ให้ข้อเสนอแนะ สกสว.เพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนการลงทุนในระบบ ววน. สร้างความเชื่อมั่น ตอบสนองความคาดหวังของภาคนโยบายและสาธารณชน โดยเน้นการสื่อสารงานวิจัย จัดเวทีสาธารณะเร่งด่วน และยกระดับความสามารถในการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศได้ทันเหตุการณ์ ขณะที่การติดตามและประเมินผลงานวิจัยต้องมีคณะทำงานร่วม และหานักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญมาร่วมทีม พร้อมสร้างนักประเมินรุ่นใหม่
ศ. ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ครั้งที่ 5/2566 โดยมีวาระสำคัญคือ แนวทางการดำเนินงานของ สกสว. ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประเมินผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ สกสว. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลตอบแทนการลงทุนในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมีเป้าหมายให้เกิดการตอบสนองความคาดหวังของภาคนโยบายและสาธารณะ สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบ ววน. รวมถึงการอภิบาลที่ดีของระบบ ววน.ทุกระดับ และรวมพลัง ววน. เป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้มีเอกภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
ตัวอย่างกลไกหรือเครื่องมือที่จะดำเนินการที่สำคัญ คือ แผนงานเพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤตเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะต้องถอดบทเรียนอย่างจริงจัง เพราะอาจเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ขึ้นอีก ซึ่ง สกสว.จะต้องเรียนรู้และยกระดับความสามารถของบุคลากรในการทำงานร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ตั้งคณะทำงานที่ไม่เป็นทางการมากนักเพื่อจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีหน่วยงานร่วมให้ข้อคิดเห็นในเชิงรุก อีกประเด็นที่สำคัญคือ การตอบสนองต่อความคาดหวังของภาคนโยบายและสาธารณชน อาจจะสร้างความคาดหวังใหม่ของเราเองที่ถูกใจคนทั่วไปคู่ขนานกันไป เช่น สร้างงานสำคัญเพื่อให้ทำงานเชิงรุกได้ง่ายขึ้น
ขณะที่การสื่อสารผลงานของกองทุน ววน. จะเพิ่มงบประมาณและหาทีมงานที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงสร้างร่วมมือกับองค์กรสื่ออย่างใกล้ชิดและมีความเข้มข้นมากขึ้น สามารถพัฒนาและสื่อสารเนื้อหางานวิจัยและเทคโนโลยีให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ส่วนการปรับปรุงทักษะเชิงการเมืองและเชิงการทูต ควรมีทักษะการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือบทความ รวมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์และได้ผลงานสำคัญ นอกจากนี้ยังต้องทำให้คนเกิดความเชื่อมั่นเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนด้าน ววน. ซึ่งจะต้องทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของการนำ ววน. ไปตอบโจทย์สำคัญของประเทศที่ชัดเจน เช่น การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ
สำหรับการติดตามและประเมินผลงานวิจัย ที่ประชุมเห็นว่าควรกำหนดตัวชี้วัดหรือเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (OKRs) ที่เหมาะสม ทำให้เห็นคุณค่าและผลกระทบสำคัญของระบบ ววน. โดย สกสว.ควรจัดให้มีคณะทำงานร่วมประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับหาผู้ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ประเมิน โดยมีหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา ววน. ช่วยติดตามสถานการณ์
ทั้งนี้ควรสร้างองค์ความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์ในองค์กรต่าง ๆ ที่หลากหลายมากกว่าการรวมศูนย์ เช่น ในมหาวิทยาลัย หรือคณะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องพัฒนาแนวคิดและระเบียบวิธี เพื่อให้เป็นโปรแกรมสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้านการประเมินคุณค่าของผลกระทบ ซึ่ง รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถสนับสนุนทุนแก่นักศึกษาปริญญาโทหรือวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างนักประเมินรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่พัฒนาไปเร็วแต่ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรส่วนนี้ หรือสนับสนุนทุนผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ดูแลโครงการพัฒนากำลังคน
“เราต้องวางแผนตั้งแต่แรกว่าจะเก็บข้อมูลใดบ้าง หรือเลือกตัวชี้วัดที่มีแหล่งข้อมูลอยู่แล้ว เพื่อจะตอบว่าเป็นไปตามผลงานที่วางแผนหรือไม่ ซึ่งควรกำหนดระยะเวลาของขั้นตอนการติดตามและประเมินผลที่เข้มข้นและใกล้การนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยตนเห็นด้วยว่าต้องพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างนักประเมินงานวิจัย ส่วนการจัดทำเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (OKRs) ต้องรวมต้นทุน เวลา และกำลังคนที่ต้องใช้เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ได้ด้วย” ศ. ดร.ปิยะวัติกล่าวทิ้งท้าย