ลู่ทางความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะกลายเป็นสมาชิกรายหนึ่งขององค์การนาโตคือภัยคุกคามการดำรงคงอยู่ของแดนหมีขาวเมื่อพิจารณาจากความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย และดังนั้นรัสเซียจะไม่ยินยอมอดทนอดกลั้นในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย บอกกับคณะผู้แทนของหลายประเทศแอฟริกาเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ค.) ที่ผ่านมา
ในเอกสารซึ่งนำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของยูเครนจากสหภาพโซเวียต “มันมีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ยูเครนเป็นรัฐที่ยึดถือนโยบายเป็นกลาง” ปูติน กล่าวเตือนความจำบรรดาผู้นำชาติแอฟริกาผู้มาเยือน ระหว่างการพบปะหารือกันในช่วงที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ทั้งนี้ ปูติน กำลังอ้างอิงถึงปฏิญญาปี 1990 ที่ประกาศให้โซเวียตยูเครนกลายเป็นรัฐอธิปไตย ซึ่งมีการระบุว่า ยูเครนที่เป็นรัฐอธิปไตยจะต้องมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเพื่อเป็น “ประเทศที่มีนโยบายเป็นกลางอย่างถาวร”
“เรื่องนี้มีความสำคัญในระดับรากฐาน ทำไมฝ่ายตะวันตกจึงเริ่มดึงลากยูเครนเข้าไปในนาโตนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่มีความกระจ่างชัดเจนเลย แต่ในความเห็นของเราแล้ว สิ่งนี้คือการสร้างภัยคุกคามในระดับรากฐานต่อความมั่นคงของเรา” ปูติน กล่าวต่อ
ปูติน และชาติสมาชิกหลายรายของคณะทำงานเพื่อสันติภาพของสหภาพแอฟริกา (เอยู) ได้พบปะหารือกันในเรื่องการสู้รบขัดแย้งยูเครน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตรัสเซีย-แอฟริกาเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งมีตัวแทนของรัฐต่างๆ จากทวีปแอฟริกา 49 รัฐเข้าร่วม
ขณะที่รัสเซียพูดเสมอมาว่าตนเองพร้อมที่จะเจรจาเพื่อยุติความเป็นศัตรูกัน แต่เคียฟกลับออกกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งห้ามการเจรจากับมอสโก รวมทั้งทรยศต่อข้อตกลงที่ได้เจรจากันไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2022 ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ปูตินกล่าวย้ำ
ตามคำพูดของปูติน ระหว่างการเจรจาหารือกันในเดือนมีนาคมปีที่แล้วที่ตุรกีดังกล่าว ในตอนแรกคณะผู้แทนยูเครนได้ยินยอมที่จะลงนามในข้อตกลงประกาศตัวเป็นกลาง ซึ่งยังจะมีการกำหนดเพดานพวกอาวุธหนักและฮาร์ดแวร์ที่ยูเครนจะมีในครอบครองได้ อย่างไรก็ดี ข้อตกลงเบื้องต้นดังกล่าว “ถูกโยนทิ้ง” หลังจากนั้นไม่นาน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้เคยกล่าวเช่นนี้ก่อนหน้านี้ในปีนี้
ครั้นแล้วพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายยูเครนก็ได้ผละออกจากการเจรจาไป ภายหลังกล่าวหาทหารรัสเซียว่ากระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนที่เมืองบูชา และพื้นที่อื่นๆ รอบๆ เมืองหลวงเคียฟของยูเครน ขณะที่มอสโกปฏิเสธแข็งขันว่าทหารของตนไม่ได้เข่นฆ่าพลเรือน
เคียฟยกเหตุผลโต้แย้งในเวลาต่อมาว่า การเจรจากันอย่างมีความหมายใดๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้จนกว่ามอสโกจะยอมสละไครเมีย ตลอดจนดินแดนอีก 4 แห่งที่ได้ออกเสียงว่าจะถอนตัวจากยูเครนและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว ทั้งนี้ มอสโกกล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้
(ที่มา : อาร์ที)