xs
xsm
sm
md
lg

สถิติโลกแน่เลย! นักอ่านมะกันเบี้ยวไม่คืนหนังสือ จน 119 ปี ห้องสมุดถึงได้รับกลับแบบมึนๆ หากมีค่าปรับจะตก $2,100

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นิ้วมือของ ผอ.โอลิเวีย เมโล แห่งห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด ชี้ชัดไปที่ปี 1882 ซึ่งรับหนังสือ “An Elementary Treatise on Electricity” เข้าสู่ระบบของห้องสมุด และ ผอ.เล่าว่า หนังสือเล่มนี้ที่เขียนโดยศาสตราจารย์เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ ถูกยืมออกไปครั้งสุดท้ายในปี 1904 ก่อนจะกลายเป็นหนังสือที่เกินกำหนดส่งคืนตั้ง 119 ปี โดยหนังสือไปปรากฏอยู่ในลังหนังสือบริจาคเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย เมื่อต้นเดือนที่แล้ว
ในวันวาเลนไทน์เมื่อ 1.19 ศตวรรษที่ผ่านมา คือ 14 กุมภาพันธ์ 1904 มีใครบางคนในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา สนใจใฝ่ศึกษาเรื่องราวพลังงานธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษยชาติอย่างมหาศาลที่สุดสาขาหนึ่ง ซึ่งในห้วงนั้น สหรัฐอเมริกาเพิ่งค้นพบถึงความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานนี้มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ใครคนนั้นทำการยืมหนังสือของศาสตร์สาขานี้จากห้องสมุดประชาชน เพื่อนำกลับไปศึกษาที่บ้าน หลังจากนั้นก็ทำการชักดาบ โดยเมื่อถึงกำหนดส่งคืน ใครคนนั้นก็เบี้ยวซะงั้น

หนังสือที่ถูกอมหาย-อมลืมนั้น คือ "An Elementary Treatise on Electricity" (ทฤษฎีพื้นฐานว่าด้วยไฟฟ้า) เขียนโดย เจมส์ เคลิร์ค แมกซ์เวลล์ จากห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด - New Bedford Free Public Library ซึ่งให้บริการยืมหนังสือโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม แต่คิดค่าปรับกรณีส่งคืนล่าช้า วันละ 5 เซนต์ หรือเทียบเท่ากับมูลค่าวันละประมาณ 1.74 ดอลลาร์ในปัจจุบัน หลังปรับค่าเงินเฟ้อแล้ว

An Elementary Treatise on Electricity ถูกลักพาตัวและพลัดถิ่นข้ามไปหลายรัฐ เนิ่นนานกว่า 119 ปีทีเดียว ก่อนจะได้รับอานิสงส์จากสายตาที่เฉียบคมของท่านภัณฑารักษ์ห้องสมุดในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย หนังสือทฤษฎีทางฟิสิกส์เล่มนี้ซึ่งมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อผลงานสำคัญของนักฟิสิกส์คนดังคับโลกอย่าง เซอร์ ไอแซก นิวตัน และท่านไมเคิล ฟาราเดย์ จึงมีโอกาสหวนกลับคืนสู่ห้องสมุดประชาชนในรัฐแมสซาชูเซตส์

หนังสือเล่มนี้ที่สูญหายนานร้อยกว่าปี ไปเตะตาโดนใจของ สจ๊วร์ต เพลน ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลหนังสือหายาก ณ ระบบของกลุ่มห้องสมุดมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ขณะดำเนินการคัดเลือกจัดระบบหนังสือต่างๆ ที่เพิ่งได้รับบริจาค

ภัณฑารักษ์ เพลน สังเกตได้ว่าหนังสือ An Elementary Treatise on Electricity ฉบับนี้มิใช่หนังสือส่วนตัวของประชาชน และเมื่อตรวจตราดูก็พบว่าเขาเคยเป็นหนังสือของห้องสมุดนิวเบดฟอร์ดมาก่อน และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ เขาไม่ได้ถูกประทับตราว่า “ทิ้ง” ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า หนังสือเล่มนี้แม้เลยเวลาที่จะต้องส่งกลับคืนเนิ่นนานขั้นอุกฤษฎ์แล้ว แต่เขายังไม่ได้ถูกลงบัญชีทิ้งอย่างเป็นทางการ

อาจารย์เพลน ภัณฑารักษ์ผู้ซื่อตรงต่อภารกิจ ทำการติดต่อกับ โจดี กูดแมน มาดามบรรณารักษ์จัดเก็บหนังสือพิเศษที่นิวเบดฟอร์ด เพื่อแจ้งให้เธอทราบถึงการค้นพบนี้

ห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กว่าภัณฑารักษ์ผู้ดูแลหนังสือหายาก ณ มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียได้พบหนังสือของแผนกหนังสือคอลเลกชันพิเศษแห่งห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด อยู่ในกล่องหนังสือบริจาค ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถูกยืมออกไปตั้งแต่เมื่อเกือบจะ 120 ปีที่ผ่านมา  เราจึงขอแจ้งทราบทั่วกันว่าหนังสือดังกล่าวคือ “An Elementary Treatise on Electricity” ผลงานของ ศ.เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ ได้เดินทางกลับบ้าน ณ #NewBedford เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอขอบคุณ @West Virginia University เป็นอย่างสูง พร้อมนี้ห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ดได้แนบภาพโน้ตข้อความแจ้งทราบจาก สจ๊วร์ต เพลน ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลหนังสือหายาก มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียลงวันที่ 9 มิถุนายน 2023 ไว้ฝั่งซ้าย กับภาพด้านในของปกหลังหนังสือซึ่งมีการแสตมป์วันที่ขอยืมออก ณ ปี 1904 ไว้ฝั่งขวา
“หนังสือเล่มนี้ได้คืนมาโดยยังอยู่ในสภาพที่ดีสุดๆ ค่ะ” โอลิเวีย เมโล ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด แถลงเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในความหมายว่าอยู่ในสภาพโอเคเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับกาลเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานถึง 1.19 ศตวรรษ

“ชัดเจนค่ะว่าใครบางคนได้เก็บรักษาหนังสือเล่มนี้ไว้บนชั้นหนังสือซึ่งมีสภาพดีงาม และการที่หนังสือยังอยู่ในสภาพเยี่ยมถึงขนาดนี้ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าคงอาจจะมีการส่งทอดสืบต่อกันในครอบครัวให้คอยดูแล”

หนังสือ “ทฤษฎีพื้นฐานว่าด้วยไฟฟ้า” เล่มนี้ เป็นเอดิชันแรก ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ในปี 1881 สองปีหลังมรณกรรมของมหากูรูวัย 48 ปี นามว่า ศาสตราจารย์คาเวนดิช เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ แห่งวิทยาการฟิสิกส์และดาราศาสตร์ ผู้ซึ่งจอมอัจฉริยะรุ่นหลานนามว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บอกว่าเป็นรากฐานองค์ความรู้หลักของตน

อย่างไรก็ตาม แม้หนังสือสีแครนเบอร์รีเล่มนี้ ได้หวนกลับสู่ห้องสมุดนิวเบดฟอร์ดแล้ว แต่ก็มิได้เป็นหนังสือเอดิชันหายาก ผอ.เมโล กล่าว

ในจำนวนผลงานของเจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ ซึ่งมีหลายสิบปกนั้น ปกที่กลายเป็นหนังสือหายากมีไม่น้อยกว่า 4 ปกบนเว็บไซต์ขายหนังสือเอดิชันหายาก นามว่า โซเฟียแรร์บุ๊กส์ (sophiararebooks.com) โดยมี “A Treatise on Electricity and Magnetism” (ทฤษฎีว่าด้วยไฟฟ้าและแม่เหล็ก - เอดิชันแรก ตีพิมพ์ปี 1873) เป็นปกที่แพงที่สุด คือ 24,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 850,000 บาท ดังข้อมูลในภาพที่ 3 ช่วงครึ่งล่าง

การที่มิได้เป็นแรร์เอดิชัน ซึ่งมักจะเป็นเหตุให้สนนราคาทะยานสูงส่ง อาจเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ผลงานของกูรูแมกซ์เวลล์ ถูกจัดชั้นเป็นเพียงหนังสือบริจาค และจึงได้รับโอกาสที่จะกลับสู่สถานที่อันเหมาะสมของเขา คือ หิ้งโชว์หนังสือคอลเลกชันพิเศษของ New Bedford Free Public Library

เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ มหากูรูแห่งวิทยาการฟิสิกส์และวงแหวนดาวเสาร์ เป็นนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จอมอัจฉริยะในศตวรรษที่ 19 (1831-1879) โดยมีผลงานการวิเคราะห์และค้นคว้าปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ปี ขณะที่เปเปอร์ 2 เล่มที่พัฒนาขึ้นมาเมื่ออายุ 16 ปี กับ 17 ปี สามารถคว้าชนะรางวัลนวัตกรรมวิทยาศาสตร์โดยมีอาจารย์ช่วยส่งประกวดเพราะจอมอัจฉริยะวัยรุ่นชาวอังกฤษรายนี้ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในปี 1856 รับตำแหน่งศาสตราจารย์และประธานภาควิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาลัยมาริสชาลแห่งอาร์เบอร์ดีน ก่อนจะไปรับตำแหน่งเดียวกันนี้ที่คิงส์คอลเลจกรุงลอนดอน ผลงานฟิสิกส์เชิงประจักษ์ที่ทำให้แมกซ์เวลล์เป็นมหากูรูของนักฟิสิกส์คนสำคัญจำนวนมากของโลก คือผลงานการค้นพบลักษณะและคุณสมบัติของไฟฟ้า และแม่เหล็ก ตลอดจนวงแหวนดาวเสาร์ แต่น่าเสียดาย ศ.แมกซ์เวลล์  ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องท้องและถึงแก่กรรมในปี 1879 ขณะดำรงตำแหน่งอาวุโสสูงส่งระดับศาสตราจารย์คาเวนดิชประธานภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยอายุเพียง 48 ปี  ผลงานอันปราดเปรื่องของ ศ.แมกซ์เวลล์ มหากูรูแห่งวิทยาการฟิสิกส์และวงแหวนดาวเสาร์ อันมีชื่อหัวข้อว่า “A Treatise on Electricity and Magnetism” หรือทฤษฎีว่าด้วยไฟฟ้าและแม่เหล็ก - เอดิชันแรก ตีพิมพ์ปี 1873 เป็นแรร์ไอเทม และมีสนนราคาแพงสูงส่งถึง 24,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 850,000 บาท
ผอ.เมโล กล่าวต่อไปว่า ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือที่รับคืนมาล่าช้าอย่างหนักหนา ระดับราวๆ 10 ปีถึง 15 ปีอยู่เป็นระยะๆ แต่ไม่เคยมีเล่มไหนที่ล่าช้ามากกว่าร้อยปีแบบนี้

“ทฤษฎีพื้นฐานว่าด้วยไฟฟ้า” ตีพิมพ์ออกมาในปี 1881 ในระหว่างห้วงเวลาที่โลกเร่งค้นหาและเรียนรู้ทำความเข้าใจเจาะลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในการนำกระแสไฟฟ้ามาใช้งาน โดยที่เมื่อปี 1880 โธมัส เอดิสัน เพิ่งได้รับสิทธิบัตรที่ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือสิทธิบัตรรับรองหลักการต่างๆ ของ ‘ตะเกียงไฟฟ้า’ ที่ให้แสงสว่างจากขดลวดไฟฟ้าในตะเกียง

ตอนที่หนังสือเล่มนี้ยังอยู่ในห้องสมุดนิวเบดฟอร์ดครั้งสุดท้ายก่อนถูกยืมหายลับไปในปี 1904 สหรัฐอเมริกาในตอนนั้นอยู่ในยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรม ภายใต้การนำของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ แห่งพรรครีพับลิกัน ผู้มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะชนะได้รับเลือกตั้งต่ออีกสมัยหนึ่ง โดยที่ว่านครนิวยอร์กเตรียมเฉลิมฉลองเส้นทางรถไฟใต้ดินสายแรก และก่อนหน้านั้น 1 ปี พี่น้องวิลเบอร์ และออร์วิลล์ ไรต์ เพิ่งประสบความสำเร็จในการนำสิ่งประดิษฐ์ขนาดยักษ์ คือ เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรก

การค้นพบหนังสือกระดาษอายุมากกว่า 1.19 ศตวรรษและนำกลับคืนสู่ห้องสมุด จึงสมควรถือเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนถึงความคงทนของสิ่งตีพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคยามที่หนังสือหนังหาถูกทำให้กลายเป็นระบบคอมพิวเตอร์ไปหมดแล้ว พร้อมกับมีเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมหาศาลสุดประมาณได้ในพริบตาที่เรากดแป้นคีย์ ผอ.เมโล บอกอย่างนั้น

“คุณค่าของหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมา อยู่ตรงที่ว่ามันไม่ได้เป็นเอกสารดิจิทัล มันไม่ได้จะคอยหายวับไป เพียงแค่เราถือหนังสือไว้เฉยๆ เราก็รู้สึกได้ว่าเคยมีใครบางคนถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือเมื่อ 120 ปีก่อน และกำลังอ่านมัน แล้วตอนนี้มันอยู่ที่นี่ อยู่ในมือของฉันนี่” เธอกล่าวและนำเสนอภาพเพิ่มเติมอีกด้วยว่า

“มันยังจะอยู่ที่นี่ไปอีกสักร้อยปีต่อจากนี้ หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นสิ่งที่จะมีคุณค่ายิ่งๆ ขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง”

ผ.อ.โอลิเวีย เมโล แห่งห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด แมสซาชูเสตซ์ ให้นักข่าวและช่างภาพเอพีชมหนังสือ An Elementary Treatise on Electricity ของมหากูรูเจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ ซึ่งถูกสมาชิกห้องสมุดยืมกลับบ้านแล้วแฮ้ปหายไปอย่างไร้ร่องรอย นาน 119 ปี กว่าได้กลับคืนมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ ผ.อ.เมโลชี้ให้ดูสภาพหนังสืออายุเกือบศตวรรษครึ่ง (142 ปี) ว่ายังโอเคอย่างยิ่ง ทั้งสันหนังสือ ทั้งปก และกระดาษทั้งปวง
ในช่วงปี 1904 ห้องสมุดประชาชนนิวเบดฟอร์ด คิดค่าปรับหนังสือที่ส่งคืนล่าช้ากว่ากำหนดในอัตราวันละ 5 เซนต์ ดังนั้น เอพีจึงทำการคำนวณให้เลยว่าค่าปรับในอัตรานี้จะหมายถึงว่า ใครคนนั้นที่คืนหนังสือช้าไป 119 ปี จะต้องเสียค่าปรับก้อนโตคิดเป็นเงินมากกว่า 2,100 ดอลลาร์ทีเดียว

แต่นโยบายของห้องสมุดมีกฎระเบียบที่เอื้อเฟื้อทีเดียว กล่าวคือ ในการคิดค่าปรับเพราะคืนหนังสือล่าช้าเกินกว่า 40 วัน จะเรียกเก็บในจำนวนเงินสูงสุดเพียง 2 ดอลลาร์ ไม่เกินไปกว่านั้น (5 เซนต์ x 40 วัน = 200 เซนต์ หรือ 2 ดอลลาร์)

นโยบายอันเอื้อเฟื้อที่พัฒนามาในปัจจุบัน กำหนดให้ผ่อนผันมากขึ้น คือ ยกเลิกค่าปรับล่าช้ารายวัน แต่ยังมีนโยบายคิดเงินในกรณีหนังสือหาย หรือหนังสือชำรุด

ท่านผู้อำนวยการบอกว่า ยังมีบทเรียนอีกบทหนึ่งจากการค้นพบหนังสือเล่มนี้ในคราวนี้ นั่นคือ

มันไม่มีวันสายเกินไปหรอกที่จะคืนหนังสือให้ห้องสมุด

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เอพี วิกิพีเดีย การ์เดียน)
กำลังโหลดความคิดเห็น