xs
xsm
sm
md
lg

อานุภาพกล้องไม่แผ่ว! เจมส์ เว็บบ์ เผยภาพ “ดาวเสาร์” และชั้นวงแหวนรายละเอียดคมชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พูดได้ว่าเป็นปีแห่ง “ดาวเสาร์” ราชาแห่งวงแหวนและราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร แห่งระบบสุริยะจักรวาล เพราะในปีนี้มีการค้นพบดวงจันทร์บริวารเพิ่มขึ้น อีกทั้งหนึ่งในดาวบริวารอย่าง “ดวงจันทร์เอนเซลาดัส” ก็ยังได้รับการบันทึกภาพน้ำพุร้อนจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์

ล่าสุด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ NASA และ ESA ก็ได้มีการเผยภาพถ่ายของดาวเสาร์ใหม่ล่าสุด จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ภาพใหม่นี้แสดงให้เห็นรายละเอียดของชั้นบรรยากาศดาว วงแหวน และดวงจันทร์บริวารบางดวงอย่างละเอียดและคมชัด


ราชาแห่งวงแหวนและราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร ได้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยอุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ในย่านอินฟราเรดใกล้ ช่วงคลื่น 3.23 ไมครอน โดยภาพนี้จะเห็นวงแหวนมีความสว่างกว่าตัวดาวเสาร์ เนื่องจากก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวได้ดูดซับแสงอาทิตย์ที่ส่องลงไป เมื่อเทียบกับฝุ่นก๊าซและน้ำแข็งในวงแหวนที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในย่านอินฟราเรด

ถือได้ว่าการถ่ายภาพในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้เห็นรายละเอียดชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์อย่างคมชัดในช่วงคลื่น 3.23 ไมครอน และได้ต่อยอดการศึกษาจากภารกิจในอดีต ทั้งไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, และยานแคสสินี ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการในชั้นบรรยากาศ และฤดูกาลที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้


นอกจากนั้น ภาพถ่ายขนาดเต็มยังเผยให้เห็นชั้นวงแหวน C B A และ F แบ่งกันอย่างชัดเจน พร้อมกับดวงจันทร์บริวาร Dione, Enceladus และ Tethys รวมอยู่ในเฟรมภาพที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ โดยมีความเป็นไปได้ว่ากล้องเจมส์ เว็บบ์ อาจบันทึกภาพที่มีการเปิดหน้ากล้องนานกว่านี้ เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการตรวจหาดวงจันทร์เพิ่มเติมรอบดาวเสาร์ที่ในปัจจุบันมีการยืนยันจำนวนอยู่ที่ 146 ดวงด้วยกัน

ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้บันทึกภาพดวงจันทร์เอนเซลาดัส หนึ่งในดาวบริวารของดาวเสาร์ และมีส่วนในการค้นพบว่าดวงจันทร์ดังกล่าวมีการปะทุไอน้ำจากใต้ผิวดาว ปกคลุมพื้นที่มากกว่า 9,600 กิโลเมตร หรือมากถึง 40 เท่าของขนาดดาว และอาจมีส่วนสำคัญในการปูทางพื้นฐานข้อมูลให้กับภารกิจสำรวจดาวเสาร์กับดวงจันทร์บริวารในอนาคตได้


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : NASA  / NASA's James Webb Space Telescope / bbc


กำลังโหลดความคิดเห็น