xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงเกือบ $1 และทองคำปรับลด หุ้นมะกันบวกจับตาข้อมูลเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันขยับลงในวันจันทร์ (10 ก.ค.) จากความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งอาจกระทบต่ออุปสงค์ทางพลังงาน ส่วนวอลล์สตรีทบวกแรงและทองคำปรับลด นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อและรายงานผลประกอบไตรมาส 2 ในช่วงปลายสัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 87 เซนต์ ปิดที่ 72.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 78 เซนต์ ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ในวันจันทร์ (10 ก.ค.) เน้นย้ำเชื่อว่ามีความจำเป็นที่อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อฉุดภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินไป ส่วน ลอเรนตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมเช่นกัน

อัตราดอกเบี้ยระดับสูงอาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ และกัดเซาะอุปสงค์ทางพลังงานในชาติผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกแห่งนี้

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกในวันจันทร์ (10 ก.ค.) ฟื้นตัวจากการปรับลดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง ก่อนหน้ารายงานราคาผู้บริโภคอเมริกาที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันพุธ (12 ก.ค.) และรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มทยอยแพร่เผยอออกมาในช่วงปลายสัปดาห์

ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 209.52 จุด (0.62 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,944.40 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 10.58 จุด (0.24 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,409.53 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 24.77 จุด (0.18 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,685.48 จุด

นักลงทุนเฝ้ารอด้วยความเป็นกังวลเกี่ยวกับข้อมูลเงินเฟ้อ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน โดยที่พวกนักลงทุนจำนวนมากคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในปีนี้

บรรดานักลงทุนทบทวนความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนที่บอกในวันจันทร์ (10 ก.ค.) ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีความจำเป็นเพื่อฉุดเงินเฟ้อที่ยังคงสูงเกินไป แต่บอกว่าวงจรการกระชับนโยบายการเงินของทางเฟดในปัจจุบันใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

ส่วนราคาทองคำในวันจันทร์ (10 ก.ค.) ปิดลบ นักลงทุนเฝ้ารอตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,931.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น