เซเลนสกีนำ “วีรบุรุษอาซอฟ” จากตุรกีกลับยูเครน ท่ามกลางการประณามจากเครมลินว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งตอกย้ำความล้มเหลวของปฏิบัติการตอบโต้ของเคียฟ เช่นเดียวกับการตัดสินใจของอเมริกาในการส่งระเบิดลูกปราย หรือระเบิดพวงไปให้ยูเครนที่สะท้อนความสิ้นหวัง และจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย
ในวาระครบรอบ 500 วันสงครามยูเครนเมื่อวันเสาร์ (8 ก.ค.) ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เดินทางไปเกาะงู ในทะเลดำที่กองกำลังรัสเซียยึดได้ในวันแรกที่ยกพลบุกแต่ต้องถอนออกไปในภายหลัง พร้อมกับประกาศว่า ตนเพิ่งเดินทางกลับจากตุรกีพร้อมกับวีรบุรุษของยูเครน ซึ่งก็คืออดีตผู้บังคับบัญชาการทหาร 5 นายที่เป็นผู้นำในการต้านทานการบุกโจมตีอย่างดุเดือดของรัสเซียภายในโรงงานเหล็กอาซอฟสตัล ในเมืองมาริอูโปลเมื่อปีที่แล้ว
มีรายงานว่า พลเรือนนับพันเสียชีวิตในมาริอูโปล ตอนที่กองกำลังรัสเซียบุก โดยที่ทหารยูเครนปักหลักสู้อยู่ในอุโมงค์และบังเกอร์ใต้โรงงานอาซอฟสตัล จนกระทั่งได้รับคำสั่งจากเคียฟให้ยอมจำนนในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ทหารเหล่านี้ซึ่งสังกัด “หน่วยอาซอฟ” ถูกมอสโกกล่าวหาว่าเป็นพวกนีโอนาซี แต่ต่อมามอสโกได้ปล่อยตัวเป็นบางส่วนภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษที่ตุรกีเป็นตัวกลาง โดยมีเงื่อนไขว่า พวกผู้บังคับบัญชาทหารในอาซอฟสตัล จะต้องอยู่ในตุรกีจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด
ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอาร์ไอเอของทางการรัสเซียว่า ไม่ได้รับแจ้งเรื่องปล่อยอดีตผู้บังคับบัญชาทหารอาซอฟนี้ ไม่ว่าจากยูเครนหรือจากตุรกี และประณามว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ รวมทั้งระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้เชื่อมโยงกับความล้มเหลวในปฏิบัติการตอบโต้ของยูเครน
เขายังเชื่อว่า ตุรกีถูกกดดันอย่างหนักจากพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่จะประชุมสุดยอดในสัปดาห์นี้
ทางด้านเซเลนสกีไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดผู้บัญชาการทหารเหล่านั้นจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับยูเครน แต่กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ที่ปล่อยตัวผู้บังคับบัญชาทหารเหล่านั้นพร้อมรับปากว่า จะส่งตัวนักโทษที่เหลือทั้งหมดกลับยูเครน ขณะที่กรมสื่อสารของตุรกีไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์เซเลนสกีเสร็จสิ้นการเยือนตุรกีเพื่อขอการสนับสนุนเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งวันอเมริกาเพิ่งประกาศส่งระเบิดลูกปราย หรือระเบิดพวง (คลัสเตอร์บอมบ์) ให้เคียฟ อันเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจความมั่นคงใหม่มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยอมรับว่า การตัดสินใจส่งระเบิดลูกปรายที่มีศักยภาพการโจมตีกว้างขวางครอบคลุมสนามฟุตบอลหลายสนาม และอาจสร้างความเสี่ยงต่อพลเรือนนานหลายปีหากระเบิดไม่ทำงาน และกว่า 100 ประเทศทั่วโลกสั่งแบนให้ยูเครนนั้น เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก
ทางด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติต่างตั้งคำถามกับการตัดสินใจดังกล่าวของอเมริกา และหลายประเทศออกมาคัดค้าน
สำหรับรัสเซียซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธชนิดนี้ในยูเครน ได้ประณามการตัดสินใจของอเมริกาว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการต่อต้านรัสเซียของวอชิงตัน และสำทับว่า เป็นการกระทำจากความสิ้นหวังซึ่งจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน
มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียสำทับว่า การรับประกันของยูเครนว่า จะใช้ระเบิดลูกปรายอย่างมีความรับผิดชอบ “ไม่ได้มีความหมายใดๆ”
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ โอเลคซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน แสดงความยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าวของอเมริกา โดยบอกว่าจะช่วยปกป้องชีวิตทหารยูเครน ปลดปล่อยดินแดนของยูเครน พร้อมให้สัญญาว่าจะไม่ใช้อาวุธนี้ในเมือง แต่จะใช้เพื่อทำลายแนวป้องกันของศัตรู รวมทั้งจะไม่ใช้โจมตีในรัสเซีย และจะจัดทำบันทึกการนำไปใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับพันธมิตร
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, อาร์ที)