นักวิจัยจากสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ในสหรัฐฯ ออกมาประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรที่กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 อาจนำมาใช้กับจีนหากสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันลุกลามบานปลาย จะก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์
มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ และตะวันตกใช้กับรัสเซียในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองว่าจีนก็อาจจะถูก “ลงโทษ” แบบเดียวกันหากคิดรุกรานไต้หวัน แต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจและอิทธิพลที่จีนมีต่อระบบการเงินและการค้าโลก การคว่ำบาตรจีนย่อมจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า
ทีมนักวิจัยของสภาแอตแลนติกระบุว่า สถานะปัจจุบัน (status quo) ในช่องแคบไต้หวันกำลังถูกบั่นทอนทั้งจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การที่จีนใช้เครื่องมือทางทหารและเศรษฐกิจกดดันไทเปอย่างหนัก รวมถึงนโยบายที่จีนนำมาใช้กับฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตกว่ารัสเซียถึง 10 เท่า การคว่ำบาตรจีนย่อมจะส่งแรงกระเพื่อมที่หนักหนาสาหัสไปยังนานาประเทศ รวมถึงตลาดทั่วโลกด้วย
“หากมองฉากทัศน์รุนแรงที่สุด ซึ่งหมายถึงการคว่ำบาตรสถาบันการเงินขนาดใหญ่ๆ ในระบบธนาคารของจีน เราประเมินว่ามันจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการไหลเวียนของเม็ดเงินอย่างน้อยๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” คณะนักวิจัยของสภาแอตแลนติกเผย
พวกเขาเตือนว่า สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นก็คือ “ภาวะขาดแคลนสินค้า การว่างงาน รวมถึงวิกฤตการเงินที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง”
ทีมวิจัยคาดว่า มาตรการตอบโต้ของ G7 จะพุ่งเป้าแบบเฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมของจีนที่ต้องพึ่งตลาด หรือเทคโนโลยีตะวันตก แต่กระนั้นบทลงโทษใดๆ ก็ตามย่อมส่งผลสะท้อนกลับไปยังประเทศที่คว่ำบาตรจีนด้วย ยกตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจีนจะกระทบโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกของ G7 ไปจีนประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังบั่นทอนห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมการบินและอวกาศภายใน G7 เอง นอกจากนี้ หากจีนใช้ “มาตรการตอบโตแก้แค้น” ก็จะกระทบการส่งออกสินค้าของ G7 อีกประมาณ 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สภาแอตแลนติกเตือนว่า มาตรการแทรกแซงทางเศรษฐกิจควรเป็นเพียง “ส่วนเสริม” นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางทหารและการทูต เพราะหากใช้บทลงโทษทางการเงินมากเกินไปอาจนำไปสู่ความผิดพลาดด้านนโยบาย และยังเปิดช่องให้จีนโปรโมตสกุลเงิน หรือระบบธุรกรรมทางเลือกขึ้นมาแข่งอีกด้วย
ที่มา : business insider