ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน อาจเพิ่มแนวโน้มของวิกฤตด้านการทหารในช่องแคบไต้หวัน ด้วยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจพยายามปลุกเร้าความเป็นชาตินิยม ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำสมัย 3 หนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชีย รายงานโดยอ้างคำเตือนของสถาบันวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ
คำเตือนดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานฉบับหนึ่งของคณะทำงานเฉพาะกิจของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน ในนั้นรวมถึงในด้านการเมือง การทูต เศรษฐกิจและความมั่นคง โดยในรายงานดังกล่าวบรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า กรอบการทำงานในเรื่องไต้หวันของวอชิงตันที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ เริ่มเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่พวกเขาสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนในปี 1979
รายงานที่เขียนโดยคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งมี ไมค์ มูลเลน อดีตประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม และซู กอร์ดอน อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ เป็นประธานร่วม ระบุว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับความไม่สบายใจของประธานาธิบดีสี ต่อสถานภาพปัจจุบันและความมุ่งมั่นของเขาในการเดินหน้าสู่การรวมชาติ ปณิธานนี้เพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้ง
ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) สรุปด้วยว่า จีนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระยะยาว สืบเนื่องจากกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุและจำนวนประชากรลดลงเรื่อยๆ การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีนวัตกรรมทั้งหลายและความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีล้ำสมัย
ธนาคารกลางจีนปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในวันอังคาร (20 มิ.ย.) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน การปรับลดที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายของจีนมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศ
"ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ภายใต้การนำของสี เขากำลังหันไปหาพวกชาตินิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการผูกขาดอำนาจ ยิ่งเศรษฐกิจชะลอตัวมากเท่าไหร่ เขาอาจหันเข้าหาประเด็นไต้หวัน ในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในขณะที่ สี ใกล้สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งและมองหาการสืบทอดอำนาจ ความเสี่ยงของความขัดแย้งในประเด็นไต้หวันก็จะเพิ่มขึ้น"
รายงานเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ถูกเผยแพร่ออกมา 1 วัน หลังจาก แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะกับ สี ในกรุงปักกิ่ง โดยในขณะที่ทั้ง 2 มหาอำนาจเห็นพ้องรักษาไว้ซึ่งสายการติดต่อสื่อสาร แต่การเยือนของ บลิงเคน เปิดเผยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับอนาคตของไต้หวัน โดยที่ หวัง อี้ ผู้แทนทูตระดับสูงของจีน เน้นย้ำว่า ปักกิ่ง ไม่มีวันประนีประนอมในประเด็นของเกาะแห่งนี้ และไม่มีที่ว่างสำหรับการอ่อนข้อ ตามรายงานของนิกเกอิ เอเชีย
(ที่มา : นิกเกอิเอเชีย/เอเอ็นไอ)