นายกฯ ชอลซ์ของเยอรมนีลั่น การหารือโดยตรงกับจีนมีความสำคัญมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนท่ามกลางวิกฤตโลกในหลากหลายประเด็น ถึงแม้เวลานี้ฝ่ายตะวันตกเห็นพ้องกันมากขึ้นว่า จำเป็นต้อง “ลดความเสี่ยง” จากการมีความสัมพันธ์มหาอำนาจเอเชียแห่งนี้ก็ตาม
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการเป็นเจ้าภาพจัดการหารือในกรุงเบอร์ลินระหว่างรัฐบาลของเขา กับคณะผู้แทนของจีนที่นำโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดแบบพบหน้าค่าตากันจริงครั้งแรกนับจากวิกฤตโรคระบาด
กิจกรรมนี้ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างตะวันตกกับปักกิ่ง อีกทั้งยังจัดขึ้นในวันเดียวกับที่สหภาพยุโรป (อียู) นำเสนอแผนความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ต้องการโน้มน้าวให้สมาชิก 27 ชาติเห็นพ้องในการยกระดับการควบคุมการส่งออกและการไหลออกของเทคโนโลยีที่ศัตรู เช่น จีนอาจนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร
นอกจากนั้น หน่วยข่าวกรองเยอรมนีเองยังเตือนในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (20) ว่า จีนเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดในแง่การสอดแนมทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเยอรมนี
ทว่า ในวันเดียวกันนั้น ชอลซ์กล่าวปกป้องการตัดสินใจของตนเองระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ หลี่ ที่เบอร์ลิน ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวที่เข้าฟังถามคำถาม โดยบอกว่า “การสนทนากันโดยตรง การพูดจากันแบบเป็นส่วนตัว การเจรจาหารือกันอย่างจริงจัง –ทั้งหมดเหล่านี้สำหรับเวลาที่ไม่ปกติเช่นตอนนี้ซึ่งเต็มไปด้วยการท้าทายและวิกฤตระดับโลก ต้องถือว่ามีความสำคัญมากกว่าในเวลาปกติเสียอีก”
นายกรัฐมนตรีจากพรรคโซเชียล เดโมเครติกผู้นี้เสริมว่า โควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก แสดงให้เห็นว่าเยอรมนีจำเป็นต้องร่วมมือใกล้ชิดกับจีนในประเด็นระดับโลกต่างๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องสุขภาพ
ชอลซ์ยังบอกอีกว่า ได้เรียกร้องให้จีนใช้อิทธิพลต่อรัสเซียมากขึ้นในประเด็นการรุกรานยูเครน รวมทั้งปรับปรุงการเข้าถึงตลาดและการแข่งขันอย่างเป็นธรรมสำหรับบริษัทเยอรมนีในจีน
ทว่า โนอาห์ บาร์กิน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจีนของโรเดียม กรุ๊ป ชี้ว่า ประเด็นที่ชอลซ์ไม่ได้พูดถึงในการแถลงข่าว เช่น การลดความเสี่ยง ไต้หวัน ซินเจียง และฮ่องกง เป็นประเด็นที่น่าสนใจกว่าสิ่งที่ผู้นำเยอรมนีแถลง
ทั้งนี้ “การลดความเสี่ยง” หมายถึงความพยายามของตะวันตกในการลดการพึ่งพิงจีนที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ธาตุสำคัญและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อม และการจำกัดการเข้าถึงของจีนสำหรับเทคโนโลยีระดับสูงของยุโรป
ปีที่ผ่านมา เยอรมนีใช้จุดยืนแข็งกร้าวขึ้นกับจีน ทว่า สายเหยี่ยวมองว่า เบอร์ลินยังคงประนีประนอมโดยการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมาก ขณะที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ล็อบบี้รัฐบาลไม่ให้แข็งกร้าวเกินไป
นับจากปี 2016 จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่สุดของเยอรมนี และเป็นตลาดหลักสำหรับบริษัทชั้นนำ เช่น โฟล์คสวาเกน และบีเอ็มดับเบิลยู
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า หลี่กล่าวระหว่างการประชุมกับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทชั้นนำของเยอรมนีเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ว่า ภาคธุรกิจควรเป็นผู้นำในการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่ภาครัฐ
ทั้งนี้ แหล่งข่าววงในเผยว่า ความแตกแยกภายในรัฐบาลของชอลซ์เกี่ยวกับวิธีจัดการกับจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทำให้การเผยแพร่กลยุทธ์เกี่ยวกับจีนล่าช้าออกไป
การเยือนเยอรมนีเป็นเวลา 4 วันเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของหลี่นับจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียและยุโรปคู่นี้
หลี่กล่าวว่า จีนยินดีร่วมมือกับเยอรมนีเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และตั้งข้อสังเกตว่า สองประเทศได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกว่า 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึงการผลิตขั้นสูงและการปกป้องสิ่งแวดล้อม ระหว่างการเยือนครั้งนี้
ด้านชอลซ์สำทับว่า จะจัดการเจรจาเจ้าหน้าที่ระดับที่สามกับจีนเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินโลกปลายปีนี้ที่เบอร์ลิน และว่า จีนมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลกในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคีใหญ่ที่สุดของโลก
ผู้นำเมืองเบียร์เสริมว่า ไม่ต้องการหย่าร้างแยกขาดจากจีน แต่ต้องการสร้างการเป็นหุ้นส่วนที่สมดุลในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งหมายถึงการกระจายการค้า
ทั้งนี้ ในวันอังคารหลี่ร่วมประชุมธุรกิจเยอรมนี-จีนก่อนเดินทางไปมิวนิก โดยมีกำหนดพบกับผู้บริหารบริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น ซีเมนส์และบีเอ็มดับเบิลยูในวันพุธ (21 มิ.ย.) ก่อนบินต่อไปปารีสเพื่อเยือนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งร่วมประชุมการเงินระดับระหว่างประเทศในวันที่ 22 และ 23
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)