xs
xsm
sm
md
lg

สมใจวอชิงตัน! แผนสกัดอิทธิพลจีนในแปซิฟิก ปาปัวนิวกินีอนุญาตอเมริกาใช้ฐานทัพได้ไม่จำกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (ซ้าย) จับมือกับรัฐมนตรีกลาโหมปาปัวนิวกินี วิน บาครี ดากี (ขวา) ภายหลังทั้งคู่ลงนามกันในข้อตกลงความมั่นคงระหว่างกัน โดยที่มีนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี เจมส์ มาราเป (กลาง) เป็นประจักษ์พยาน ณ กรุงกรุงพอร์ตมอสบี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2023 เนื้อหาของข้อตกลงฉบับนี้ถูกรักษาเป็นความลับอย่างเข้มงวด และเพิ่งถูกนำมาเปิดเผยในช่วงนี้ขณะยื่นเสนอให้รัฐสภาปาปัวนิวกินีลงมติรับรอง
เผยรายละเอียดข้อตกลงความมั่นคงฉบับใหม่ ปาปัวนิวกินีเปิดอ้าซ่าให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถพัฒนาและใช้ฐานทัพต่างๆ ในประเทศเล็กๆ เพื่อนบ้านของอินโดนีเซียแห่งนี้ได้แบบไม่จำกัด เป็นการตอกย้ำความพยายามของอเมริกาที่อ้างว่ามุ่งมั่นขัดขวางการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในแปซิฟิก ขณะที่ปักกิ่งตอบโต้ว่าวอชิงตันต่างหากซึ่งพยายามดิ้นรนรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในโลกเอาไว้ต่อไปอย่างสุดฤทธิ์

ข้อความทั้งหมดในข้อตกลงระหว่างปาปัวนิวกินีกับสหรัฐฯ ซึ่งยื่นเสนอให้รัฐสภาของปากัวนิวกินีพิจารณาอนุมัติเมื่อค่ำวันพุธ (14 มิ.ย.) และสำนักข่าวเอเอฟพีได้รับมา ทำให้โลกภายนอกได้ทราบรายละเอียดที่มีการป้องกันไม่ให้รั่วไหลออกมาอย่างเข้มงวด นับจากที่มีการลงนามกันไปเมื่อเดือนพฤษภาคม

ปรากฏว่า ตามข้อตกลงฉบับนี้ ปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นประเทศในแถบโอเชียเนีย ที่มีดินแดนสำคัญคือซีกตะวันออกของเกาะนิวกินี (ขณะที่ซีกตะวันตกเป็นของอินโดนีเซีย) ตกลงยินยอมให้อเมริกาสามารถส่งทหารและเรือเข้าไปประจำยังท่าเรือและสนามบินหลัก 6 แห่งของตน โดยรวมถึงฐานทัพเรือลอมบรูม บนเกาะมานุส และท่าเรือในกรุงพอร์ตมอสบี ทั้งนี้ วอชิงตันสามารถเข้าถึงสถานที่เหล่านั้นได้อย่างไม่จำกัดเพื่อติดตั้งและจัดเตรียมอุปกรณ์ล่วงหน้า รวมทั้งใช้งานเป็นกรณีพิเศษในสถานที่บางแห่งของฐานทัพ โดยที่จะสามารถพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างในสถานที่เหล่านั้นได้ด้วย

ข้อตกลงนี้จึงเป็นการเปิดทางให้วอชิงตันจัดตั้งการประจำการทางทหารแห่งใหม่ขึ้นในแปซิฟิกตะวันตก ในช่วงเวลาที่อเมริกาแก่งแย่งแข่งขันกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะการเข้าถึงฐานทัพเรือลอมบรูม ทำให้สามารถใช้ที่นี่เป็นกำลังเสริมให้แก่ฐานทัพของสหรัฐฯ บนเกาะกวม ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปทางเหนือ และนั่นหมายถึงอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในกรณีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกับจีนขึ้นมาในกรณีเกี่ยวกับไต้หวัน

ในอดีต ลอมบรูมที่อยู่ปลายสุดของมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เคยเป็นที่ตั้งของกองทหารจากอังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอเมริกามาแล้ว

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานทัพแห่งนี้เป็นหนึ่งในฐานทัพใหญ่ที่สุดของอเมริกาในแปซิฟิก โดยมีเรือจอดทอดสมออยู่ถึง 200 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือประจัญบาน 6 ลำ และเรือบรรทุกเครื่องบิน 20 ลำ เรือเหล่านี้เองที่ใช้ในการช่วงชิงฟิลิปปินส์คืนจากญี่ปุ่น

ด้านจีนนั้นเคยพยายามเข้าใช้ฐานทัพลอมบรูม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนถูกออสเตรเลียและอเมริการ่วมกันกดดันจนต้องถอยออกมา ด้วยการที่ 2 ประเทศดังกล่าวเข้าไปทำข้อตกลงพัฒนาฐานทัพแห่งนี้ร่วมกับปาปัวนิวกินีในปี 2018

การที่นายกรัฐมนตรีเจมส์ มาราเป ไปทำข้อตกลงเช่นนี้กับสหรัฐฯ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นง่ายดาย โดยเขาต้องเจอกับกระแสการประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ ฝ่ายค้านบางคนตั้งคำถามว่า ปาปัวนิวกินีกำลังเซ็นสัญญาที่เป็นการยกอธิปไตยให้ชาติอื่นใช่หรือไม่

ในคืนวันพุธเขาแถลงต่อรัฐสภาว่า ตลอดช่วง 48 ปีที่ผ่านมา ปาปัวนิวกินีปล่อยให้กองทัพถูกกัดกร่อน และสำทับว่า อธิปไตยกำหนดด้วยความแข็งแกร่งของกองทัพ

ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีปีเตอร์ โอนีลล์ กล่าวถึงข้อตกลงนี้ว่า คือการวาดเป้าสำหรับเล็งยิงเอาไว้ที่หลังของปาปัวนิวกินี และชี้ว่า “อเมริกากำลังทำเรื่องนี้เพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของพวกเขาเอง พวกเขาทั้งหมดต่างเข้าใจดีถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นมาภายในภูมิภาคของเรา”

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา มีกำหนดเยือนปาปัวนิวกินีเพื่อลงนามข้อตกลงฉบับนี้ แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากต้องรีบกลับสหรัฐฯ เพื่อจัดการกับศึกเพดานหนี้สินในรัฐสภาสหรัฐฯ และมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เป็นผู้ลงนามแทน

ขณะนี้วอชิงตันกำลังพยายามโน้มน้าวประเทศต่างๆ ในแปซิฟิกด้วยมาตรการจูงใจทางการเงินและการทูตเพื่อแลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปักกิ่งดำเนินการอยู่เช่นกัน

พวกบริษัทจีนไปคว้าสัญญาทำเหมืองและท่าเรือทั่วแปซิฟิก ปีที่แล้วทางการจีนยังลงนามข้อตกลงความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนที่อาจอนุญาตให้จีนส่งกองทัพเข้าประจำการในประเทศนั้น

ทางฝ่ายอเมริกาอ้างว่า ที่มั่นของกองทัพจีนทางตอนใต้ของแปซิฟิก อาจทำให้ปักกิ่งมีความได้เปรียบเหนือฐานทัพของตนในเกาะกวม ซึ่งจะทำให้การปกป้องไต้หวันซับซ้อนขึ้นในกรณีที่จีนบุกเกาะที่พวกเขาถือเป็นมณฑลกบฏแห่งนั้น

(ที่มา : เอเอฟพี, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น