มีรัฐสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มากกว่า 10 ชาติจากทั้งหมด 31 ประเทศ ที่ไม่ต้องการให้ ยูเครน เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ แห่งนี้ จากการเปิดเผยของ อิกอร์ ซอฟควา รองหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซอฟควา เขียนบนเฟซบุ๊กเมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) ว่าเคียฟมีผู้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิกนาโตแล้ว 20 ชาติ นั่นหมายความว่าจนถึงตอนนี้ยังมีอีก 11 ประเทศ ที่ปฏิเสธสนับสนุนการสมัครเข้าร่วมกลุ่มของเคียฟ
ข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กของ ซอฟควา มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจาก เซเลนสกี และจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ลงนามในเอกสารหนึ่งในเคียฟ ส่งสัญญาณว่าออตตาวา เห็นชอบให้ยูเครนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของนาโต
"ปฏิญญาร่วมกำหนดอย่างชัดเจนว่าฝ่ายแคนาดาให้การสนับสนุนสถานภาพสมาชิกนาโตของยูเครน ทันทีที่เงื่อนไขต่างๆ ในเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบ นี่คือคำพูดที่หนักแน่นที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกจี 7 ทั้งมวลที่ต่างเป็นสมาชิกนาโต" ซอฟควากล่าว พร้อมระบุปฏิญญาร่วมคล้ายกันนี้เพิ่งมีการลงนามร่วมกับรัฐบาลโรมาเนีย เมื่อไม่นานที่ผ่านมาเช่นกัน
ซอฟควา ระบุต่อว่า "พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ เป็นอีกขั้นของการเตรียมการเพื่อความสำเร็จของยูเครน ณ ที่ประชุมซัมมิตนาโต ในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ในเดือนกรกฎาคม "
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางสัปดาห์ จูเลียแอนน์ สมิธ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำนาโต ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวโพลิติโก ยอมรับว่า "คำเชิญที่เหมาะสม" สำหรับเชิญยูเครนเข้าร่วมนาโต "ไม่น่าจะเป็นไปได้" ตราบใดที่ยูเครนยังอยู่ในความขัดแย้งกับรัสเซีย
แต่กระนั้น สมิธ ชี้ว่าระหว่างการประชุมที่กำลังมาถึงในเมืองหลวงของลิทัวเนีย ทางกลุ่มยังคงต้องการส่งสารถึงยูเครน ว่า พวกเขามีความมุ่งมั่นช่วยเหลือเคียฟในระยะยาว และนาโตมีทางเลือกหลายหนทางในการทำเช่นนั้น
รัสเซียมองการแผ่ขยายขอบเขตมาทางทิศตะวันออกของนาโต ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของพวกเขา และบ่งชี้ความเคลื่อนไหวของเคียฟที่พยายามผลักดันเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ต้องตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)