xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดนคุยนายกฯ UK ชื่นมื่น จับมือแน่นต้านจีน-รัสเซีย จะไม่หยุดทุ่มทุนหนุนยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) แถลงความตกลงทางยุทธศาสตร์ใหม่ ในขณะที่ผู้นำทั้ง 2 ชาติ อุทิศ "ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน" ในการรับมือรัสเซียและจีน รวมถึงภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ระหว่างการหารือที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นำเสนอแนวร่วมต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และวิวัฒนาการปัญญาประดิษฐ์อย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ

อย่างไรก็ตาม ซูแน็กต้องกลับบ้านมือเปล่า ในความทะเยอทะยานของสหราชอาณาจักร ที่ต้องการมีข้อตกลงการค้าเสรีหลังเบร็กซิตกับสหรัฐฯ โดยมันถูกแทนที่ด้วยแผนของไบเดน ในการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวรูปแบบใหม่ผ่านการอุดหนุนอุตสาหกรรมในวงกว้าง

"ปฏิญญาแอตแลนติก" ที่ผู้นำทั้งสองอ้าแขนรับ มีเป้าหมายส่งเสริมความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมในด้านกลาโหมและพลังงานหมุนเวียน ในยามที่ต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ จากรัฐเผด็จการทั้งหลาย

"ประเทศต่างๆ อย่างเช่นจีนและรัสเซีย จงใจยักย้าย ฉวยประโยชน์หรือขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในทางเผด็จการ หรือถอนคืนทรัพยากรสำคัญๆอย่างเช่นทรัพยากรพลังงาน" ซูแน็กกล่าวระหว่างแถลงข่าวเคียงข้างไบเดน "พวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ"

ภายใต้ปฏิญญานี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเปิดการเจรจาเกี่ยวกับแนวทางของสหรัฐฯ ในการบริการจัดการแร่ที่มีความสำคัญอย่างมาก ที่ใช้ในแบตเตอรี่ไฟฟ้าในสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ไบเดนยังเห็นพ้องจะร้องขอให้สภาคองเกรส กำหนดให้สหราชอาณาจักร เป็นแหล่งภายในสำหรับการจัดซื้อด้านกลาโหม เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

แม้จะไม่ได้ข้อตกลงการค้า แต่ ซูแน็ก บอกว่า "ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไม่เคยแข็งแกร่งเช่นนี้มาก่อน" พร้อมให้คำจำกัดความ "ความสัมพันธ์พิเศษ" ในฐานะพันธมิตรที่ขาดกันไม่ได้ ในขณะที่ ไบเดน เห็นพ้อง ระบุว่า สำหรับสหรัฐฯ แล้ว "ไม่มีประเทศไหนมีความสำคัญใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร"

ผู้นำทั้ง 2 เห็นตกกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งมีแรงขับเคลื่อนจากไอเอ ซึ่งโหมกระพือคำเตือนน่าสยดสยองว่า จักรกลที่มีความรู้สึก อาจกำจัดมวลมนุษย์หมดสิ้นไป หากว่ารัฐบาลต่างๆ ไม่ตอบสนองด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ไบเดน สนับสนุนแผนของ ซูแน็ก ในการจัดประชุมประเทศต่างๆ ที่มีความคิดเหมือนกัน สำหรับการประชุมซัมมิตเอไอครั้งแรกของโลก ในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยังต้องการให้ประเทศของเขาเป็นที่ตั้งขององค์กรควบคุมกฎระเบียบด้านเอไอในอนาคตด้วย

"มีความเป็นไปได้ที่เอไอจะก่อความเสียหายร้ายแรง หากมันไม่มีการควบคุม" ไบเดนกล่าว "เรากำลังมองหาสหราชอาณาจักรให้ช่วยเป็นแกนนำในการหาหนทางฝ่าเรื่องนี้ ไม่มีประเทศไหนที่เรามีความเชื่อมั่นมากเช่นนี้" ผู้นำสหรัฐฯ ระบุ

นอกจากนี้ ไบเดน และซูแน็ก ยังสัญญาว่าจะยังคงเป็นหัวหอกของโลกในด้านการสนับสนุนยูเครน หลังจากรับปากมอบความช่วยเหลือด้านการทหารหลายพันล้านดอลลาร์แก่เคียฟ ในการสู้รบกับผู้รุกรานรัสเซีย

ไบเดน กล่าวว่า พวกเขาหารือกันเกี่ยวกับ "แรงสนับสนุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับประชาชนชาวยูเครน ที่ปกป้องตนเองจากการรุกรานที่โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดที่เราไม่เคยพบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว"

"ผมอยากขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี สำหรับการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของท่าน" ไบเดนระบุ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ แม้จะจัดหาเงินทุนที่จำเป็นสำหรับสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่เคียฟต้องการ แม้มีท่าทีลังเลมาจากรีพับลิกัน คู่ปรับของเขาในสภาคองเกรส

ซูแน็ก และ ไบเดน ยังได้หารือกันในตำแหน่งผู้นำของนาโต ซึ่ง เบน วัลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพันธมิตรทหารแห่งนี้ ณ ที่ประชุมซัมมิตในกรุงวิลนีอัส เมืองหลวงของลิทัวเนีย ในเดือนหน้า

"พวกเขามีผู้สมัครเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากๆ" ไบเดนกล่าวถึงวัลเลซ พร้อมบอกว่า "บางที" เมื่อถูกถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่นาโตจะมีเลขาธิการเป็นชาวสหราชอาณาจักรอีกคน

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตคนปัจจุบัน มีกำหนดพ้นจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม ไบเดน บอกว่านาโตจำเป็นต้องมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการเลือกผู้นำ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กและเอสโตเนีย ถูกมองในฐานะผู้ท้าชิงเช่นกัน

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น