ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังผลิตน้ำมันครั้งใหม่ หลังที่ประชุมโอเปก+ ตั้งเป้าดันราคาขึ้นแม้มีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นช่วงสั้นๆ
เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย แถลงภายหลังการประชุมกลุ่มโอเปก+ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 13 ชาติขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย กับหุ้นส่วนผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปก 10 ชาติ นำโดยรัสเซีย ณ สำนักงานใหญ่ของโอเปกในกรุงเวียนนา ว่าประเทศของเขาตกลงจะลดกำลังผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) สำหรับเดือนกรกฎาคม แต่สามารถขยายให้นานกว่านี้ได้
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า โอเปก+ จะคงนโยบายปัจจุบัน แต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มปรากฏสัญญาณว่า สมาชิก 23 ชาติมีการหารือกันเรื่องการลดกำลังผลิต
ทั้งนี้ เดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาชิกโอเปก+ หลายชาติเห็นพ้องลดกำลังผลิตตามความสมัครใจรวมแล้วกว่า 1 ล้านบีพีดี ทว่า ความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจดังกล่าวช่วยหนุนราคาน้ำมันขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น
เวลานี้บรรดาผู้ผลิตน้ำมันต่างพยายามแก้ปัญหาราคาตกและตลาดมีความผันผวนสูง ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
นับจากการลดกำลังผลิตในเดือนเมษายน ราคาน้ำมันกลับตกลงราว 10% โดยราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ตกลงเกือบแตะ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับจากเดือนธันวาคม 2021
เทรดเดอร์ต่างกังวลว่า อุปสงค์จะยิ่งลดลงจากความกังลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของอเมริกาพุ่งขึ้น และการฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดของจีนก็สะดุด
อย่างไรก็ดี รองนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ โนวัค ของรัสเซีย กล่าวว่า การลดกำลังผลิตที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันจะขยายออกไปจนถึงสิ้นปีหน้าหลังจากทดสอบมาเป็นเวลานาน
จากตารางระดับการผลิตที่ต้องการของโอเปก+ สำหรับปีหน้านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะสามารถผลิตเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน ขณะที่อีกหลายประเทศที่รวมถึงแองโกลา สาธารณรัฐคองโก และไนจีเรีย ลดโควตาการผลิตลง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ประเทศในแอฟริกาลังเลที่จะลดโควตาของตนเองแม้จริงๆ แล้วไม่สามารถผลิตได้เต็มตามโควตาก็ตาม
กระนั้น บรูโน ฌอง-ริชาร์ด อิตูลา รัฐมนตรีกระทรวงไฮโดรคาร์บอนของสาธารณรัฐคองโก ยืนยันหลังการประชุมว่า สมาชิกทั้งหมดพอใจกับข้อตกลงล่าสุด
การประชุมในวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ยังถูกจับตาใกล้ชิดเนื่องจากรัสเซียต้องการคงเพดานการผลิต ขณะที่ซาอุดีอาระเบียต้องการดันราคาขึ้นเพื่อสร้างสมดุลงบประมาณ
จิโอวานนี สโตโนโว นักวิเคราะห์ของยูบีเอส ชี้ว่า การประชุมครั้งนี้ตอกย้ำว่า โอเปก+ ยังคงร่วมมือกันได้ โดยส่วนสำคัญของการประชุมคือการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ
รัสเซียนั้นพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันขณะที่สงครามในยูเครนยืดเยื้อและมาตรการแซงก์ชันของตะวันตกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยได้จัดส่งน้ำมันให้อินเดียและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียที่มีความต้องการน้ำมันดิบอย่างมาก
ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์ของคอมเมิร์ซแบงก์ระบุว่า จุดคุ้มทุนของริยาดขณะนี้อยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เดือนมีนาคม 2020 พันธมิตรกลุ่มนี้เกือบล่มหลังจากมอสโกไม่ยอมลดกำลังผลิต แม้วิกฤตโควิดฉุดราคาน้ำมันทรุดฮวบก็ตาม และหลังจากการเจรจาล้มเหลว ริยาดเพิ่มการส่งออกสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนน้ำมันล้นตลาด ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะตกลงกันได้ในที่สุด
เมื่อถูกถามว่า การประชุมในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการขัดแย้งกันหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นการตัดสินใจร่วมกัน
นักวิเคราะห์คาดว่า ภายหลังความเคลื่อนไหวล่าสุดของริยาดจะทำให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นช่วงสั้นๆ
ทามัส วาร์กา นักวิเคราะห์ของพีวีเอ็ม อิเนอร์จี้ เตือนว่า ปัจจัยสำคัญของสมการน้ำมันคืออุปสงค์ ถ้าความกดดันเรื่องเงินเฟ้อยังคงอยู่จะทำให้ความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดลง และการลดอุปทานลงอาจช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้
ทั้งนี้ โอเปก+ ผลิตน้ำมันราว 60% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก และการประชุมนัดต่อไปกำหนดไว้ในวันที่ 26 พฤศจิกายน
(ที่มา : เอเอฟพี)