xs
xsm
sm
md
lg

ล้มเหลวเสียแล้ว! โสมแดงส่ง ‘ดาวเทียมสปาย’ ขึ้นไม่ถึงอวกาศ ด้านเกาหลีใต้มีเฮ เผยเก็บกู้ซากชิ้นส่วนที่ตกลงทะเลได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพที่ถ่ายและเผยแพร่เมื่อวันพุธ (31 พ.ค.) โดยกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ในกรุงโซล ระบุว่า แสดงให้เห็นวัตถุที่เข้าใจว่าเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของ “ยานส่ง” ดาวเทียมเกาหลีเหนือ ซึ่งประสบความล้มเหลวและตกลงมาในทะเล ทั้งนี้ กองทัพโสมขาวกู้ชิ้นส่วนนี้ขึ้นมาได้จากกลางทะเลเหลือง บริเวณห่างจากเกาะอีโอเชือง ไปทางตะวันตกราว 200 กม.
ความพยายามของเกาหลีเหนือในการส่ง “ดาวเทียมสอดแนม” ขึ้นสู่อวกาศล้มไม่เป็นท่า หลังจรวดส่งทำงานบกพร่อง ส่งผลมันดำดิ่งลงทะเล ขณะที่กองทัพเกาหลีใต้เผยเก็บกู้ซากวัตถุที่น่าจะเป็นถังเชื้อเพลิงเหลวได้ ซึ่งอาจเป็นขุมทรัพย์ข่าวกรองสำคัญ

ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่มีดาวเทียมโคจรในอวกาศ และผู้นำคิม จองอึน กำหนดให้การพัฒนาดาวเทียมสอดแนมทางทหารเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของเปียงยาง แม้ฝ่าฝืนมติของสหประชาชาติ ที่ห้ามโสมแดงใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็ตาม

ก่อนหน้านี้ เปียงยางประกาศว่ามีกำหนดจะส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยแถลงว่าดาวเทียมแบบนี้มีความสำคัญสำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของอเมริกาและพันธมิตร

ในตอนเช้าวันพุธ (31 พ.ค.) สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า เครื่องยนต์และระบบเชื้อเพลิงของจรวดส่งทำงานไม่เสถียร จึงร่วงลงในทะเลพร้อมกับดาวเทียม “ชอลลีมา-1” ที่มันบรรทุกไปด้วย พร้อมกับบอกว่าทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบจะสอบสวนข้อบกพร่องร้ายแรงนี้ และทำการทดสอบใหม่โดยเร็วที่สุด

ทางด้านกองทัพเกาหลีใต้แถลงในวันเดียวกันว่า สามารถเก็บกู้ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะรูปทรงคล้ายถังขนาดใหญ่พร้อมกับมีท่อและสายไฟอยู่ด้านล่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจเป็นท่อเชื้อเพลิงเหลว โดยที่ได้นำเอาภาพชิ้นส่วนที่กู้ขึ้นมาได้นี้ออกเผยแพร่ด้วย

ลี ชุนเกิน นักวิจัยกิตติมศักดิ์ของสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ ชี้ว่า นี่เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นยากมากในการที่เกาหลีใต้สามารถเก็บกู้ชิ้นส่วนจรวดหรือแม้กระทั่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เปียงยางอาจใช้เวลาอีกหลายเดือนในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในการปล่อยดาวเทียม

ขณะที่ แอนกิต ปันดา นักวิเคราะห์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในอเมริกา กล่าวว่า เศษซากที่กู้ได้จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านจรวดขับดันขนาดใหญ่แบบมีหลายท่อนของทางเกาหลีเหนือ

การปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือคราวนี้ ในช่วงต้นๆ ได้สร้างความแตกตื่นและสับสนอย่างยิ่งในกรุงโซล หลังจากเจ้าหน้าที่ออกคำเตือนอพยพฉุกเฉินตอนเช้าตรู่ รวมทั้งเปิดไซเรนเตือนภัยทางอากาศทั่วย่านใจกลางเมืองหลวง ส่งผลให้โลกออนไลน์พากันตื่นตระหนก ก่อนที่กระทรวงมหาดไทยจะประกาศในอีกไม่กี่นาทีต่อมาว่า เป็นการออกคำเตือนที่ผิดพลาด

ด้านญี่ปุ่นได้เปิดระบบเตือนภัยขีปนาวุธในเกาะโอกินาวา เมื่อเช้าวันพุธเช่นเดียวกัน และยกเลิกหลังจากนั้น 30 นาที

ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอเมริกาต่างประณามการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า ละเมิดมติของยูเอ็นที่ห้ามเปียงยางทำการทดสอบใดๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธทิ้งตัว

เช่นเดียวกัน อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติ “การดำเนินการดังกล่าว” และกลับสู่โต๊ะเจรจา

ทั้งนี้ เนื่องจากขีปนาวุธพิสัยไกลและจรวดที่ใช้ปล่อยดาวเทียมใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ดังนั้น นักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกต่างมองว่า การพัฒนาความสามารถในการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจะเป็นข้ออ้างของเปียงยาง ในการแอบทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม)

ในปี 2012 และ 2016 เปียงยางได้เคยทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวที่มีพิสัยทำการไกลๆ โดยอ้างว่า เป็นการปล่อยดาวเทียมมาแล้ว โดยขีปนาวุธทั้ง 2 ลูกเคลื่อนผ่านโอกินาวาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

ก่อนการปล่อยดาวเทียมล่าสุด เกาหลีเหนือเคยปล่อยดาวเทียม 5 ดวงนับจากปี 1998 โดย 3 ดวงประสบความล้มเหลวทันที และอีก 2 ดวงดูเหมือนขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ ทว่า ไม่เคยมีการตรวจจับสัญญาณที่ออกจากดาวเทียมเหล่านั้นได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าดาวเทียมอาจทำงานผิดปกติ

ขณะเดียวกัน เดือนพฤษภาคม เกาหลีใต้กลับสามารถปล่อยดาวเทียม “นูรี” ที่พัฒนาเองขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรก ซึ่งหน่วยข่าวกรองโซลระบุว่า นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เปียงยางเร่งรัดการปล่อยดาวเทียมของตัวเองในครั้งนี้ จากระยะเวลาปกติ 20 วัน เหลือเพียง 2-3 วัน

ซู คิม หัวหน้าส่วนปฏิบัติการนโยบายของบริษัทที่ปรึกษาแอลเอ็ม คอนซัลติ้ง และอดีตนักวิเคราะห์ของสำนักงานข่าวกรองกลางของอเมริกา (ซีไอเอ) ชี้ว่า ความล้มเหลวล่าสุดเป็นเพียงความพ่ายแพ้ชั่วคราวสำหรับคิม จองอึน ซึ่งไม่อาจหยุดยั้งการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และดาวเทียมของเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ยังอาจเป็นสัญญาณว่าจะมีการยั่วยุที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น