ที่ประชุมซัมมิตของสมาคมอาเซียนในอินโดนีเซียเมื่อวันพุธ (10 พ.ค.) แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า พร้อมเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที รวมทั้งประณามเหตุโจมตีขบวนรถนักการทูตของอาเซียนที่นำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปมอบให้ประชาชนในพม่าวันอาทิตย์ (7) ที่ผ่านมา
สถานการณ์วุ่นวายในพม่าหลังฝ่ายทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศมา 2 ปีเศษ กลายเป็นประเด็นครอบงำการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่อินโดนีเซีย ขณะที่อาเซียนถูกวิจารณ์ว่า นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแดนหม่อง
ความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤตของอาเซียนที่ผ่านมา ไม่สามารถหยุดยั้งการนองเลือดหลังกองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจในปี 2021
ในการประชุมวันพุธ (10) ผู้นำอาเซียนออกคำแถลงแสดงความกังวลอย่างมากต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในพม่า และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและยุติการใช้กำลังทุกรูปแบบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและทันท่วงที รวมทั้งต่อการเจรจาที่ครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ทว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าเพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์จากนานาชาติและปฏิเสธร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่ถูกปลด กองกำลังพิทักษ์ประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร และกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ
การจัดการประชุมผู้นำอาเซียนคราวนี้มีขึ้นไม่นานหลังเกิดเหตุกองทัพพม่าระดมถล่มและโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านและกบฏชนกลุ่มน้อยเพื่อพยายามกระชับอำนาจก่อนการเลือกตั้งที่วางแผนไว้
การโจมตีทางอากาศต่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เป็นที่มั่นของกลุ่มกบฏในรัฐชาน เมื่อเดือนที่แล้วที่มีผู้เสียชีวิตราว 170 คน กระตุ้นให้ทั่วโลกประณามและโดดเดี่ยวพม่าหนักขึ้น
ขณะเดียวกัน อาเซียนถูกกดดันมากขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากขบวนรถที่มีนักการทูตและเจ้าหน้าที่ประสานงานการบรรเทาทุกข์ของอาเซียนถูกโจมตีในรัฐชานทางตะวันออกของพม่า
ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์และอินโดนีเซียระบุว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตของตนอยู่ในขบวนรถดังกล่าวแต่ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
คำแถลงของผู้นำอาเซียนประณามการโจมตีดังกล่าว และย้ำว่า ผู้กระทำการยั่วยุต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ระหว่างกล่าวเปิดประชุมเมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย แสดงความเชื่อมั่นว่า อาเซียนสามารถรับมือความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในการนำมาซึ่งสันติภาพและการเติบโต หากชาติสมาชิกสามัคคีกัน
ทั้งนี้ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำอาเซียนกำลังพยายามผลักดันแผนการ 5 ข้อที่ตกลงกับพม่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วหลังจากความพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความรุนแรงล้มเหลว
แม้ยังเป็นสมาชิกอาเซียน แต่พม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงเนื่องจากรัฐบาลทหารไม่ยอมปฏิบัติตามแผนสันติภาพที่ตกลงไว้
การเป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบันของอินโดนีเซียกระตุ้นความหวังว่า อาเซียนอาจผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างสันติโดยใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ทางการทูต
วันศุกร์ที่แล้ว (5) เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศแดนอิเหนา กล่าวว่า จาการ์ตาใช้ “การทูตแบบเงียบๆ” เพื่อหารือกับทุกฝ่ายในพม่าและฟื้นความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างสันติ
ทว่า เมื่อวันอังคาร (9) รัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อาเซียนมาถึง “ทางแยก” และเสี่ยงที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากไม่สามารถรับมือกับพม่าและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ภายในภูมิภาค
ลีนา อเล็กซานดรา นักวิเคราะห์ของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในจาการ์ตา ชี้ว่า เวลาที่อินโดนีเซียจะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใกล้หมดลงแล้ว เนื่องจากหลังซัมมิตครั้งหน้าในเดือนกันยายน อินโดนีเซียจะต้องส่งต่อตำแหน่งประธานอาเซียนให้ลาว ซึ่งอาจอ้าแขนรับให้พม่ากลับเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสที่อินโดนีเซียจะต้องแสดงให้เห็นว่าสามารถทำสิ่งที่ควรทำได้
หลักการของอาเซียนที่เน้นเรื่องการมีฉันทมติในหมู่ประเทศอาเซียนและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่นๆ ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้อาเซียนไม่สามารถยุติความรุนแรงในพม่าได้ เช่นเดียวกับไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกในหมู่ชาติสมาชิกเกี่ยวกับประเด็นพม่าและปัญหาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการอ้างสิทธิอย่างก้าวร้าวมากขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้
นอกจากนั้น ยังดูเหมือนมีความคาดหวังน้อยมากเกี่ยวกับความคืบหน้าจากซัมมิตอาเซียน
แอรอน คอนเนลลี่ นักวิเคราะห์ของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ทิ้งท้ายว่า อินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่ากำลังวางแผนเปิดแผนการดำเนินการฉันทมติ 5 ข้อ แต่เขาไม่คิดว่าจะมีสิ่งแปลกใหม่ที่สร้างความประหลาดใจได้
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)