xs
xsm
sm
md
lg

แล้วใครต้นเหตุ! สหรัฐฯ วอนอย่าใช้การทหารกดดันไต้หวัน หลังจีนส่งกองเรือรบตอบโต้ 'ไช่อิงเหวิน' พบ ปธ.สภาอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) เรียกร้องจีนให้เลือกหนทางด้านการทูต แทนกดดันทางทหารใส่ไต้หวัน หลังปักกิ่งประจำการกองเรือรบรอบเกาะแห่งนี้ ตามหลังการพบปะกันระหว่างผู้นำไทเป กับประธานสภาผู้แทนราษฎรอเมริกา

"เราเดินหน้าเรียกร้องให้ปักกิ่งเลิกกดดันทางทหาร การทูตและเศรษฐกิจกับไต้หวัน และหันมามีส่วนร่วมกับการพูดคุยทางการทูตที่มีความสำคัญแทน" เวแดนท์ พาเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว "เรายังคงมุ่งมั่นเปิดช่องทางการสื่อสารต่างๆ เอาไว้เพื่อปกป้องความเสี่ยงจากการคำนวณผิดพลาดไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม"

พาเทล ยอมรับว่ามีความเห็นต่างระหว่างสหรัฐฯ และจีนในประเด็นไต้หวัน แต่บอกว่ามหาอำนาจทั้ง 2 สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้มานานกว่า 40 ปีแล้ว

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน พบปะกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน ในแคลิฟอร์เนีย ในวันพุธ (5 เม.ย.) ส่งผลให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่อเมริกันระดับสูงสุดที่พบปะกับประธานาธิบดีรายหนึ่งของไต้หวัน บนแผ่นดินสหรัฐฯ นับตั้งแต่วอชิงตันเปลี่ยนข้างจากไทเป หันไปรับรองปักกิ่ง ในปี 1979

จีน ซึ่งเคยเตือนเกี่ยวกับการเดินทางเยือนดังกล่าว ได้ส่งกองเรือรบแล่นเข้าประจำการในช่องแคบไต้หวัน แต่ปฏิกิริยาตอบสนองในเบื้องต้นต่อความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังถือว่าเบากว่าครั้งที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนก่อนเดินทางเยือนไต้หวันในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความการเยือนของ ไช่ ว่าเป็นเพียงการ "แวะพัก" ระหว่างเดินทางไปและกลับจากละตินอเมริกา "ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนการแวะพักนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่สหรัฐฯ ยึดถือมาช้านาน เป็นบางอย่างที่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองที่เลยเถิดจนเกินไป" พาเทล กล่าว

ไต้หวันเฝ้าจับตาเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนที่แล่นมาใกล้ในวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) รวมทั้งคำขู่ของปักกิ่งที่จะตรวจสอบเรือทุกลำในช่องแคบไต้หวัน แต่ไม่คาดหมายว่าความตึงเครียดจะบานปลายใหญ่โต ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังแดนมังกรประณามรุนแรงการพบปะที่แคลิฟอร์เนีย ระหว่างประธานาธิบดีไทเป กับประธานสภาล่างสหรัฐฯ

ชิว กั๋วเฉิง รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาในไทเปเมื่อวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ว่า ตรวจพบเรือบรรทุกเครื่องบิน “ซานตง” และเรือรบจีนลำอื่นๆ อีก 3 ลำ แล่นห่างจากชายฝั่งด้านตะวันออกของไต้หวัน 200 ไมล์ทะเล (370 กม.) ในวันพุธ และเสริมว่า แม้เรือจีนระบุว่าเป็นการฝึกซ้อม แต่จังหวะเวลาค่อนข้างอ่อนไหว และเรือรบไต้หวันหลายลำจับตาดูโดยรักษาระยะห่าง 5-6 ไมล์ทะเล นอกจากนี้ ยังไม่พบเครื่องบินขึ้นจากดาดฟ้าเรือลำดังกล่าว

อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหมไต้หวันบอกว่า จีนได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ต่อต้านเรือดำน้ำเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน รวมทั้งส่งเรือของหน่วยยามฝั่งหลายลำออกมาตรวจการณ์อย่างผิดปกติ ทำให้ไต้หวันยื่นประท้วง

ชิวเสริมว่า ทางฝ่ายอเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบิส “นิมิตซ์” แล่นอยู่ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันออกของไต้หวันราว 400 ไมล์ทะเล

ด้านกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า พบหมู่เรือรบจีนประกอบด้วยเรือ 3 ลำ ซึ่งนอกจากเรือ “ซานตง” แล้ว ยังมีเรือฟรีเกตและเรือสนับสนุน และเรือรบของฝ่ายญี่ปุ่นกำลังจับตาเรือเหล่านี้ อีกทั้งกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นพบเรือซานตงเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

ทั้งนี้ จีนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการซ้อมรบใหญ่โตรอบไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯ ในขณะนั้นเดินทางเยือนไทเป

โก เฉิงฮง รองผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน แถลงต่อสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ว่า ไม่คาดว่า จีนจะมีปฏิกิริยาแข็งกร้าวแบบที่เกิดขึ้นภายหลังการเยือนของเพโลซี และสิ่งที่จีนสนใจมากกว่าคือ แมคคาร์ธีจะเยือนไต้หวันหรือไม่

กระนั้น ไทเปยังกังวลกับคำประกาศของจีนเมื่อคืนวันพุธ (5 เม.ย.) ว่า หน่วยงานบริหารความปลอดภัยทางทะเลของจีนจะตรวจสอบเรือทุกลำในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นไปตรวจสอบบนเรือ โดยไต้หวันได้แจ้งผู้ดำเนินการขนส่งสินค้าว่า ถ้าได้รับการร้องขอดังกล่าวจากจีน ให้ปฏิเสธและขอความช่วยเหลือจากหน่วยยามฝั่งไต้หวันทันที

ชิว สำทับว่า ไต้หวันจะตอบโต้หากเรือตรวจการณ์จีนข้ามเส้นแบ่งครึ่งในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถือเป็นพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสองฝ่าย

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น