บรรดาสมาชิกยุโรปขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อาจต้องเผชิญงานยากลำบากในการสนับสนุนเคียฟ สู้รบกับรัสเซีย ในช่วงหลังศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2024 จากเสียงเตือนของ บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ท่ามกลางความคาดหมายว่าความช่วยเหลือของวอชิงตันที่จะมอบแก่ยูเครน มีความเป็นไปได้ว่าจะลดลง โดยไม่คำนึงถึงว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Welt am Sonntag ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (1 เม.ย.) พิสโตริอุส มองว่าสหรัฐฯ อาจหันไปให้ความสนใจกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากยิ่งขึ้นหลังศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา 2024 แม้ว่าประธานาธิบดีที่ฝักใฝ่ยุโรปได้รับชัยชนะ และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งวาระสุดท้ายที่ตะวันตกจะให้การสนับสนุนเคียฟ
"หากกรณีเลวร้ายสุดกลายเป็นจริง และประธานาธิบดีอเมริกา ซึ่งปลีกตัวเองออกห่างจากยุโรปและนาโต้ ก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว เราจะเจอความท้าทายต่างๆ ที่ไม่อาจจินตนาการได้ในปัจจุบัน" พิสโตริอุส ระบุ พร้อมกล่าวว่าเมื่อนั้นยุโรปจะจำเป็นต้องชดเชยพันธสัญญาที่ลดน้อยถอยลงไปของสหรัฐฯ ในการปกป้องกลุ่มทหารแห่งนี้ "นอกเหนือจากสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน"
พิสโตริอุส ยังคาดหมายด้วยว่าประเด็นการป้องกันตนเองของเยอรมนี คงยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากกองทัพเยอรมนีเจอปัญหาด้านเสบียงและเงินทุนมานานหลายปี และคาดหมายว่าคงไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ก่อนปี 2023 นอกจากนี้ เขาบอกด้วยว่าเวลานี้คลังแสงของกองทัพมีอย่างจำกัด และปฏิเสธรับปากมอบรถถังที่ผลิตโดยเยอรมนีให้แก่ยูเครนเพิ่มเติม
รัฐมนตรีรายนี้ไม่ได้พูดอย่างเจาะจงว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายใดที่เขาคิดว่าจะเป็นกรณีเลวร้ายสุด อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สมัครคนดังจากรีพับลิกันหลายราย ในนั้นรวมถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยส่งเสียงแสดงความสงสัยต่อแนวคิดเดินหน้าให้การสนับสนุนยูเครน ซึ่งมันก่อความกังวลในเคียฟ
ในเดือนมีนาคม ทรัมป์กล่าวว่าหากเขาได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัย เคียฟควรคาดการณ์ไว้เลยว่า "จะได้เงินเพิ่มเติมอีกน้อยนิดจากเรา" ส่วน รอน เดซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ตัวเต็งอีกคนให้จำกัดความความขัดแย้งว่า เป็น "ความยุ่งเหยิงด้านเขตแดน" ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ใคร่ใส่ใจเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างกระตือรือร้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งรัฐบาลของเขาได้รับการรับประกันเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับยูเครน 112,000 ล้านดอลลาร์ จากสภาคองเกรสเมื่อปี่ที่แล้ว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกรีพับลิกันบางส่วน สำหรับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการตี "เช็คเปล่า" ให้เคียฟ
ในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี บอกกับเอพีว่า เขามีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะลดการสนับสนุน โดยบอกว่า "ถ้าพวกเขาหยุดช่วยเหลือเรา เราจะไม่ชนะ"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)