ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ในวันเสาร์ (1 เม.ย.) บอกว่าเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่รัสเซียก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) พร้อมระบุว่ามันแสดงให้เห็นว่าสถาบันแห่งนี้ "ล่มสลายไปแล้วโดยสิ้นเชิง"
ในวันเสาร์ (1 เม.ย.) รัสเซียเข้ารับตำแหน่งประธานขององค์กรด้านความมั่นคงสูงสุดของสหประชาชาติแห่งนี้ ซึ่งหมุนเวียนกันไปในทุกเดือน โดยหนสุดท้ายที่มอสโกดำรงตำแหน่งดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ครั้งที่ทหารรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ
"เคราะห์ร้าย เรามีข่าวที่ไร้สาระสิ้นดีและน่าเจ็บปวด" เซเลนสกีกล่าวปราศรัยผ่านวิดีโอในช่วงค่ำ พร้อมกล่าวหาว่ารัสเซียเพิ่งยิงระเบิดเข่นฆ่าเด็กชาย 5 ขวบไปเมื่อวันศุกร์ (31 มี.ค.) "และในช่วงเวลาเดียวกับที่รัสเซียเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มันยากที่จินตนาการ นอกเหนือจากมันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงภาวะล่มสลายโดยสิ้นเชิงของสถาบันนั้นๆ" เขากล่าว
ดีมีโตร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครน กล่าวว่า การที่รัสเซียกลับมาครองตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกครั้ง คือการตบหน้าประชาคมนานาชาติ "ผมขอเรียกร้องให้สมาชิกชุดปัจจุบันของ UNSC ร่วมกันขัดขวางความพยายามใดๆ ของรัสเซียที่จะใช้อำนาจของประธานในทางที่ผิด"
เครมลินระบุในวันศุกร์ (31 มี.ค.) บอกว่าพวกเขามีแผนใช้ทุกสิทธิที่มีในบทบาทประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ก่อนหน้านั้น ในวันพฤหัสบดี (30 มี.ค.) สหรัฐฯ เร่งเร้าให้รัสเซีย "ทำตัวอย่างมืออาชีพ" ครั้งที่เข้ารับบทบาททดังกล่าว พร้อมยอมรับว่าไม่มีหนทางสำหรับขัดขวางมอสโกจากตำแหน่งนี้
เซเลนสกี บอกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องโดยทั่วไปในสถาบันต่างๆ ของโลก ในนั้นรวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "การปฏิรูปมีความจำเป็นอย่างที่สุด เพื่อขัดขวางรัฐก่อการร้ายและรัฐอื่นๆ ที่ต้องการเป็นก่อการร้ายจากการทำลายสันติภาพ" เขากล่าว
รัสเซียจะมีอิทธิพลเล็กน้อยต่อการตัดสินใจต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบวาระต่างๆ
มอสโกเผยว่า เซอร์เกีย ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ มีแผนนั่งเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเดือนนี้ ในด้านเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ
ส่วน มาเรีย ชาราโปวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เสริมด้วยว่า ลาฟรอฟ จะเป็นประธานการอภิปรายหนึ่งในประเด็นตะวันออกกลางในวันที่ 25 เมษายน
ในนิวยอร์ก ทูตรายหนึ่งประจำคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีโดยไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่า "ในกรณีที่ประธานใช้อำนาจโดยมิชอบ เราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างแน่นอน" อย่างไรก็ตาม "นี่ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือสงครามในยูเครนและทำให้แน่ใจว่าเราจะทำให้เรื่องนี้จบไป"
ด้านสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของรัสเซีย เช่นเดียวกับสถานะสมาชิกถาวรของรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "ประเทศหนึ่งที่ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอย่างโจ่งแจ้งและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ควรมีที่ว่างในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ" คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวระบุในวันศุกร์ (31 มี.ค.)
"เคราะห์ร้ายที่รัสเซียเป็นสมาชิกถาวระคณะมนตรีความมั่นคงแห่งหประชาชาติ และไม่มีหนทางแห่งความเป็นไปได้ใดในกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบันที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงนี้" เธอกล่าว พร้อมเรียกสถานะประธานว่าเป็น "ตำแหน่งเชิงพิธีการอย่างกว้างๆ"
ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี คาดหวังว่ารัสเซียจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพในฐานะประธาน แต่ก็แสดงความเคลือบแคลงสงสัยเช่นกัน "เราคาดหมายว่าพวกเขาจะหาโอกาสเดินหน้าการทำสงครามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารกับยูเครน สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ของเราในทุกโอกาส จะหยิบยกความกังวลของเราเกี่ยวกับพฤติกรรมของรัสเซียขึ้นมาหารือ" เธอกล่าว พร้อมเน้นย้ำเสียงประณามของวอชิงตัน ต่อการก่ออาชญากรรมสงครามและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในยูเครน
บรรดาประเทศแถบบอลติกก็แสดงความกังวลเช่นกัน ในนั้นรวมถึง เรียน ทามซาร์ ผู้แทนทูตเอสโตเนียประจำสหประชาชาติ ซึ่งพูดในนามของทั้งลัตเวียและเอสโตเนีย เตือนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ระหว่างที่พวกเขาพบปะหารือกันเกี่ยวกับแผนของรัสเซีย ในการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในเบลารุส ประเทศเพื่อนบ้าน
"ฟังไม่ผิดใช่ไหม ในวันพรุ่งนี้ ในวาระครบ 1 ปีของเหตุสังหารหมู่ในเมืองบูชา รัสเซียจะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มันน่าอดสู น่าละอายและเป็นอันตรายต่อความน่าเชื่อและประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรแห่งนี้" เขากล่าว
แกบริเอเลียส แลนด์ส์เบอร์กิส รัฐมนตรีต่างประเทศของลิทัวเนีย กล่าวประชดประชันแสดงความยินดีที่รัสเซียได้รับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ "ตั้งตารอการหารืออย่างกระตือรือร้นเกี่ยวกับข้อเสนอหารือของยูเครน เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของเรือรบของคุณ" เขาเขียนในวันเสาร์ (1 เม.ย.)
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)