องค์การนิรโทษกรรมสากลชี้ความโกรธแค้นของนานาชาติต่อกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว กำลังกลายเป็นการตีแผ่ให้เห็น “ความสองมาตรฐาน” ของโลกตะวันตกที่มีต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
แอกเนส คาลลามาร์ด เลขาธิการขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กล่าวเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.) ระหว่างการนำเสนอรายงานประจำปี 2022 ที่กรุงปารีส ว่า การตอบโต้อย่างน่าเกรงขามของโลกตะวันตกต่อการที่รัสเซียรุกรานยูเครน กำลังกลายเป็นการตอกย้ำความสองมาตรฐาน และเกิดเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่ตะวันตกเพิกเฉยต่อการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติในประเทศอื่นๆ
การเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มพิกัดของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เผยให้เห็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และจะเป็นไปได้ต่อเมื่อมีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน นั่นคือการที่ตะวันตกร่วมมือร่วมใจสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ โดยหลายประเทศออกมาตรการแซงก์ชันมอสโกและเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครน ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศก็เร่งรีบเปิดการสอบสวนคดีอาชญากรรมสงครามในยูเครน
ทว่า องค์การนิรโทษกรรมสากลชี้เอาไว้ในรายงานประจำปีดังกล่าวของตนว่า การกระทำเหล่านี้ตอกย้ำการเพิกเฉยต่อปัญหาในส่วนอื่นๆ ของโลก ยกตัวอย่างเช่นตะวันตกพากันปิดปากเงียบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบีย ไม่ดำเนินการใดๆ กับการกดขี่ในอียิปต์ และปฏิเสธที่จะเผชิญหน้าต่อสู้กับระบบเหยียดเชื้อชาติและแบ่งแยกเชื้อชาติซึ่งอิสราเอลใช้กับชาวปาเลสไตน์เวลานี้
ทั้งองค์การนิรโทษกรรมสากลเอง หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อย่าง “ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์” และผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นต่างสรุปกันออกมาแล้วว่า การปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอล ถือเป็นนโยบายเหยียดเชื้อชาติและแบ่งแยกเชื้อชาติ เหมือนๆ กับระบบการแบ่งแยกคนผิวดำและคนผิวขาวในยุคสมัยที่คนขาวเป็นผู้ปกครองแอฟริกาใต้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลยิวปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ก็ตามที
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลเสริมว่า รัฐบาลอิสราเอลชุดแล้วชุดเล่าได้ออกมาตรการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพออกจากบ้านพักอาศัยของตัวเอง ขยายพื้นที่ตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายของชาวยิวล่วงล้ำเข้าไปในเขตของชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งทำให้การละเมิดเข้าไปตั้งถิ่นฐานและที่มั่นต่างๆ ของชาวยิวซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งเขตเวสต์แบงก์ซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่ กลายเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย
แต่แม้อิสราเอลทำเช่นนี้ และแม้กองกำลังยิวสังหารพลเรือนปาเลสไตน์ไปอย่างน้อย 153 คน ซึ่งรวมถึงเด็กนับสิบในเขตยึดครองเวสต์แบงก์ในปีที่แล้ว ตะวันตกกลับไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลยุติระบบกดขี่นี้แต่อย่างใด
ส่วนที่ซาอุดีอาระเบีย รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลบอกว่า พวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนยังคงถูกจับขังคุก เช่นเดียวกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ภายหลังมีการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนั้นยังมีผู้ชาย 81 คนถูกตัดสินประหารในวันเดียว และใรผู้อพยพเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว
สำหรับในอียิปต์ ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว ผู้ประท้วง และผู้ต่อต้านนับพันคนถูกจำคุก และมีการทรมานเกิดขึ้นทั่วไป
ขณะเดียวกัน แม้พวกประเทศยุโรปต้อนรับขับสู้ผู้ลี้ภัยยูเครน แต่กลับปฏิเสธผู้ลี้ภัยจากซีเรีย อัฟกานิสถาน และลิเบีย
สหรัฐฯก็เช่นกันที่ให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยยูเครน แต่กลับขับไล่ชาวเฮติกว่า 25,000 คน ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2021 ถึงเดือนพฤษภาคม 2022 ภายใต้นโยบายและแนวทางปฏิบัติแบบที่เคยใช้กันอยู่ในยุคลัทธิเหยียดผิวต่อต้านคนผิวดำ นอกจากนี้ยังมีการทรมานและกดขี่ข่มเหงคนเหล่านั้น
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังย้ำความล้มเหลวของพวกสถาบันระหว่างประเทศในการรับมืออย่างเหมาะสมต่อความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนนับพันๆ ซึ่งรวมถึงในเอธิโอเปีย เมียนมาร์ และเยเมน
คาลลามาร์ดชี้ว่า ความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในปี 2022 ไม่ได้เกิดขึ้นในยูเครน แต่เป็นเอธิโอเปียซึ่งอยู่นอกความสนใจของนานาชาติ
นอกจากนี้สงครามในยูเครนยังเบี่ยงเบนทรัพยากรและความสนใจไปจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การสู้รบขัดแย้งและความทุกข์ทรมานของประชากรในที่อื่นๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว
ปีที่ผ่านมายังเป็นปีเลวร้ายสำหรับสิทธิสตรี ตัวอย่างเช่น ศาลสูงสุดของอเมริกาเพิกถอนสิทธิ์ในการทำแท้ง
ที่อิหร่าน ผู้หญิงต้องตายเพราะเต้นรำ ร้องเพลง หรือไม่สวมผ้าคลุมหน้า ขณะที่ผู้คนลุกขึ้นมาประท้วงระบบอิสลามของประเทศนี้
ส่วนที่อัฟกานิสถานภายใต้ระบอบตอลีบาน ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุที่ได้รับการปฏิบัติตามความพึงพอใจของผู้ชายที่ลอยนวลพ้นผิดในทุกกรณี
คาลลามาร์ดทิ้งท้ายว่า ในปี 2022 ไม่พบหลักฐานว่าการรับมือของนานาชาติต่อวิกฤตยูเครน จะสามารถกลายเป็นร่างพิมพ์เขียวสำหรับการรับมือกับการสู้รบขัดแย้งตลอดจนวิกฤตต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและอย่างประสานสอดคล้องกัน
(ที่มา: เอเอฟพี)