xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวผนวกเครดิต สวิสทำหุ้นเอเชียฟื้น จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือพอแค่นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นักลงทุนคลายใจในระดับหนึ่ง หลังยูบีเอสปิดดีลเข้าอุ้มเครดิต สวิส แม้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของระเบิดเวลาลูกอื่นๆ ในระบบการธนาคารก็ตาม โดยความสนใจขณะนี้อยู่ที่การประชุมเฟด ท่ามกลางความสงสัยว่า แบงก์ชาติสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งบางคนโทษว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตการธนาคารในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือพอแค่นี้

ข้อตกลงมูลค่า 3,000 ล้านฟรังก์ (3,200 ล้านดอลลาร์) ในการเข้าผนวกกิจการเครดิต สวิสที่เคยมีมูลค่ากว่า 90,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นแบงก์ใหญ่ที่สุดที่เผชิญวิกฤตในขณะนี้นั้น ผลักดันโดยหน่วยงานกำกับดูแลของสวิตเซอร์แลนด์ และประกาศออกมาเมื่อวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) ข่าวดีนี้ช่วยบรรเทาความกังวลว่า ปัญหาอาจลุกลามทั่วระบบการเงิน และทำให้ตลาดหุ้นเอเชียฟื้น

เกรซ ทัม หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการลงทุนในฮ่องกงของบีเอ็นพี ปาริบาส์ เวลธ์ แมเนจเมนต์ ชี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันของธนาคารระดับภูมิภาคของอเมริกา และเครดิต สวิส กระตุ้นความกังวลว่าความเสี่ยงอาจลุกลาม แต่ครั้งนี้ธนาคารกลางประเทศสำคัญรับมืออย่างรวดเร็วมากด้วยการอัดฉีดสภาพคล่อง และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังศึกษาวิธีคุ้มครองเงินฝากของธนาคารทั้งหมดชั่วคราวหากวิกฤตการธนาคารลุกลาม อย่างไรก็ตาม ทัมคาดว่า ในระยะสั้นความรู้สึกของนักลงทุนจะยังผันผวนต่อไป

ในวันอังคาร (21 มี.ค.) เครดิต สวิสเริ่มการประชุมประจำปีว่าด้วยการลงทุนในเอเชียที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วันที่ฮ่องกง ส่งสัญญาณว่า ธุรกิจของแบงก์แห่งนี้ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ และงานนี้มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทระดับภูมิภาคหลายแห่งเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม อุลริช โคร์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) เครดิต สวิส ไม่ได้เข้าร่วมประชุมอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ และการประชุมไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวหลังภารกิจเข้าอุ้มแบงก์แห่งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อวสานของเครดิต สวิสเกิดขึ้นหลังจากธนาคารขนาดกลาง 2 แห่งของอเมริกาคือ ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ล้ม และแม้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปกระเตื้องขึ้น แต่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับระเบิดเวลาลูกอื่นๆ ในระบบการธนาคาร

ราคาหุ้นเฟิร์สต์ รีพับลิก แบงก์ของอเมริกาลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) จากความกังวลว่า การอัดฉีดเงินทุน 30,000 ล้านดอลลาร์ให้แบงก์แห่งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอาจไม่เพียงพอ

วอลล์ สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าววงในว่า เจมี ไดมอน ซีอีโอเจพีมอร์แกน เป็นแกนนำการหารือกับแบงก์ใหญ่อื่นๆ เพื่อเพิ่มความพยายามในการฟื้นเสถียรภาพเฟิร์สต์ รีพับลิก ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีการเข้าลงทุนในแบงก์แห่งนี้

ทั้งเจพีมอร์แกน และเฟิร์สต์ รีพับลิกต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ กระนั้น โฆษกของเฟิร์สต์ รีพับลิกอ้างอิงแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า แบงก์ยังอยู่ในสถานะที่สามารถจัดการกิจกรรมเงินฝากระยะสั้นได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ผู้วางนโยบายจากวอชิงตันจนถึงยุโรปเน้นย้ำว่า ปัญหาในขณะนี้ต่างจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยชี้ว่า ธนาคารต่างๆ มีสถานะเงินทุนดีกว่าและระดมทุนได้ง่ายขึ้น

ถึงกระนั้น ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางชั้นนำให้สัญญาว่า จะจัดหาสภาพคล่องเป็นสกุลเงินดอลลาร์เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและป้องกันไม่ให้ปัญหาในระบบการธนาคารลุกลามเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฟดเผยว่า ได้ร่วมกับธนาคารกลางแคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ยูโรโซน และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องในตลาด ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการรับมือระดับโลกครั้งล่าสุดนับจากวิกฤตโควิด

ขณะนี้เทรดเดอร์เชื่อมั่นมากขึ้นว่า เฟดจะระงับการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธ (22 มี.ค.) เพื่อพยายามรับประกันเสถียรภาพการเงิน

สตีฟ อิงแลนเดอร์ หัวหน้าแผนกวิจัยจี10 เอฟเอ็กซ์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ระบุว่า ประสบการณ์ใกล้ความตายของภาคการธนาคารในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มทำให้เจ้าหน้าที่เฟดพิจารณาจุดยืนของตนเองเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น