ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับ เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ในวันพุธ (15 มี.ค.) อากาศยานอเมริกาจะเดินหน้าบิน "ทุกหนทุกแห่งตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต" หลังเกิดกรณีมีคำกล่าวหาเครื่องบินขับไล่มอสโกลำหนึ่งเป็นสาเหตุทำให้โดรนของอเมริการ่วงลงสู่ทะเลดำ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัสเซีย ตอบโต้กลับว่า การยกระดับความเคลื่อนไหวด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ คือต้นตอของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
วอชิงตัน กล่าวหาว่าเครื่องบินซู-17 ของรัสเซีย ก่อความเสียหายแก่โดรนเอ็มคิว-9 รีปเตอร์ ลำหนึ่งของพวกเขา เป็นเหตุให้มันตกลงสู่ทะเลดำ ส่วนฝ่ายมอสโกปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุ พร้อมกล่าวหาอเมริกากำลังทำการบินด้วยความเป็นปรปักษ์ในภูมิภาคดังกล่าว
เพนตากอนระบุในถ้อยแถลงว่า ออสติน ได้พุดคุยกับ ซอยกู "เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ขาดความไม่เป็นมืออาชีพ อันตรายและขาดความยั้งคิดเมื่อเร็วๆ นี้ของกองทัพอากาศรัสเซีย ในน่านฟ้าสากลเหนือทะเลดำ" พร้อมกล่าวต่อว่า "เขาได้เน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าบินและปฏิบัติการใดก็ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต"
รัสเซียยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกันจริง และบอกว่าทางวอชิงตันเป็นคนริเริ่มในเรื่องนี้
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าว ด้วยว่า "มันเป็นหน้าที่ของรัสเซียที่ต้องปฏิบัติการเครื่องบินทหารด้วยแนวทางที่ปลอดภัยและมีความเป็นมืออาชีพ" พร้อมเผยการคงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารกับรัสเซียเป็นสิ่งสำคัญ ตามหลังสงครามยูเครนที่ลากยาวกว่า 1 ปี ซึ่งระหว่างนั้น การติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมของสหรัฐฯ และรัสเซียเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก
"เราจริงจังมากกับทุกความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคงเปิดสายการติดต่อสื่อสาร" เขากล่าว "ผมคิดว่ากุญแจสำคัญคือ เราสามารถรับโทรศัพท์และพูดคุยกับอีกฝ่าย และผมคิดว่ามันจะช่วยป้องกันการคำนวณผิดพลาดในอนาคต"
พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ แถลงข่าวเคียงข้าง ออสติน ว่าเขามีแผนพูดคุยกับประธานคณะเสนาธิการทหารรัสเซียเช่นกัน
เขาเผยว่าเวลานี้เพตากอนยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์วิดีโอและข้อมูลที่ได้จากโดรน เพื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น "มันเป็นการเจตนาหรือไม่? เรายังไม่ทราบ" พล.อ.มิลลีย์ กล่าว "เรารู้ว่าการสกัดอยู่ในเขตสากล เรารู้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวคือเจตนา เรารู้ด้วยว่ามันไม่มีความเป็นมืออาชีพและไม่ปลอดภัยอย่างมาก"
"แต่ขณะเดียวกัน เรายังไม่มั่นว่าเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียและอากาศยานไร้คนขับของเรามีการสัมผัสกันทางกายภาพหรือไม่" เขากล่าว
มอสโกในวันพุธ (15 มี.ค.) เปิดเผยว่า จะพยายามเก็บกู้ซาก ส่วน พล.อ.มิลลีย์ ไม่ปฏิเสธอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความพยายามเก็บกู้ของสหรัฐฯ แต่ยอมรับว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นเรื่องยากลำบาก "เราไม่มีเรือผิวน้ำลำไหนของกองทัพอยู่ในทะเลดำในเวลานี้ และโดรนดูเหมือนจะแตกเป็นเสี่ยงและจมลงพื้นในพื้นหนึ่งซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ 4,000 ถึง 5,000 ฟุต"
แม้กระทั่งรัสเซียสามารถเก็บกู้ซากได้ เขาบอกว่าสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการลดความเสี่ยง เพื่อปกป้องข้อมูลที่อ่อนไหว "เรามั่นใจว่า อะไรก็ตามที่เคยมีค่า มันไม่มีค่าอีกต่อไป" พล.อ.มิลลีย์ กล่าว
ระหว่างการพูดคุย ชอยกู บอกกับ ออสติน ว่าการยกระดับรวบรวมข้อมูลข่าวกรองรัสเซียของวอชิงตัน คือต้นตอของเหตุโดรนสหรัฐฯ ตกลงสู่ทะเลดำ "ความเคลื่อนไหวข่าวกรองที่เพิ่มขึ้นต่อผลประโยชน์ของสหพันธรัฐรัสเซีย และการไม่ปฏิบัติตามโซนการบินหวงห้ามที่ประกาศโดยมอสโก สืบเนื่องจากการสู้รบในยูเครน นำมาซึ่งเหตุการณ์นี้" กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลง
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังเตือนด้วยว่าพวกเขาจะตอบโต้อย่างสมสัดสมส่วนกับการยั่วยุใดๆ ของสหรัฐฯ ในอนาคต "การบินอากาศยานไร้คนขับทางยุทธศาสตร์ของอเมริกานอกชายฝั่งของไครเมีย คือการยั่วยุโดยธรรมชาติ ซึ่งก่อเงื่อนไขล่วงหน้าสำหรับสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายในเขตทะเลดำ" ถ้อยแถลงระบุ "รัสเซียไม่ได้ใส่ใจพัฒนาการของเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่เราจะเดินหน้าตอบอย่างสมสัดสมส่วนต่อการยั่วยุทั้งมวล"
(ที่มา : เอเอฟพี)