ตัวเลขการเกินดุลการค้าต่างประเทศของรัสเซียพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยได้แรงขับเคลื่อนจากยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรรัฐบาลกลางที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (13 มี.ค.)
ข้อมูลของสำนักงานศุลกากร ตัวเลขการส่งออกรวมในปี 2022 แตะระดับ 591,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 19.9% ขณะเดียวกัน ตัวเลขนำเข้าลดลง 11.7% จากหนึ่งปีก่อนหน้านี้ เหลือ 259,100 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของรัสเซียทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 332,380 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 67% จากระดับ 199,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021
การหวุนเวียนทางการค้าของรัสเซียเพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับปี 2021 แตะระดับ 850,500 ล้านดอลลาร์ โดยผลิตภันฑ์ทางพลังงานเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกต่างประเทศของรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 65% จำนวน 383,730 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 42.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี แม้ตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอุปทานพลังงานรัสเซีย ในขณะที่มอสโกกระตือรือร้นเปลี่ยนเส้นทางพลังงานมุ่งหน้าสู่พันธมิตรต่างๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียและจีน
การส่งออกสินค้าบริโภคและวัตถุดิบทางการเกษตร ประมาณการอยู่ที่ 41,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการส่งออกรวมในแง่ที่คิดเป็นตัวเงิน ส่วนยอดขายโลหะกลุ่มเหล็ก ปุ๋ย เช่นเดียวกับโลหะมีค่า โลหะกึ่งมีค่าและอัญมณี มีมูลค่า 62,500 ล้านดอลลาร์
เครื่องไม้เครื่องมือภาคอุตสาหกรรมและอุปกรณ์เชิงกลเป็นสินค้าที่รัสเซียนำเข้ามากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 47,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 18% ของยอดนำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ มอสโกยังนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบทางการเกษตร 35,700 ล้านดอลลาร์ (13% ของการนำเข้าทั้งหมด) และอุปกรณ์และเครื่องจักรกลไฟฟ้า มูลค่า 29,800 ล้านดอลลาร์ (11.5% ของการนำเข้าทั้งหมด)
นับตั้งแต่ปีที่แล้ว บรรดาชาติตะวันตกทั้งหลายได้ผ่านมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย ลงโทษในความขัดแย้งกับรัสเซียไปแล้ว 10 รอบ ขึ้นบัญชีดำผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายการที่ไม่สามารถซื้อขายกับรัสเซีย ไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้าไปจนถึงอาหาร
นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นยังเล็งเป้าเล่นงานสถาบันการเงินของรัสเซีย ทำให้ประเทศแห่งนี้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้ยากลำบาก อย่างไรก็ตาม รัสเซียกระตือรือร้นเปลี่ยนเส้นทางการส่งออก และมุ่งหน้าสู่ตลาดทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์ของพวกเขาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตะวันตกอีกต่อไป และเมื่อประกอบกับนโยบายการเงินที่ประสบความสำเร็จ ประเทศแห่งนี้จึงสามารถยืนหยัดรับมือกับแรงกดดันของมาตรการคว่ำบาตรได้อย่างมั่นคง
สำนักงานศุลกากรรัฐบาลกลางของรัสเซีย เคยหยุดเผยแพร่รายงานข้อมูลการค้าของประเทศในเดือนมีนาคม 2022 ไม่นานหลังจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกส่งผลกระทบในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานแห่งนี้แถลงในวันจันทร์ (13 มี.ค.) ว่าจะกลับมารายงานข้อมูลสถิติเป็นบางส่วน และปรับเปลี่ยนเป็นการเผยแพร่แบบรายเดือน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)