ศาลสูงมาเลเซียมีคำสั่งยกฟ้อง นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในข้อหาแทรกแซงการตรวจสอบบัญชีของกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
โมฮาเหม็ด ไซนี มัซลัน ผู้พิพากษาศาลสูงมาเลเซีย ระบุวันนี้ (3 มี.ค.) ว่า พนักงานอัยการไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันได้ว่า นาจิบ แทรกแซงกระบวนการตรวจสอบบัญชี 1MDB เพื่อประโยชน์ของตนเอง ขณะที่ อารุล กันดา กันดาซามี (Arul Kanda Kandasamy) อดีตประธาน 1MDB ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาร่วมในคดีนี้ได้รับการยกฟ้องเช่นกัน
นาจิบ ถูกครหาว่าใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งแก้ไขผลการตรวจสอบบัญชีของ 1MDB เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2016 ซึ่งหากศาลตัดสินว่าผิดจริงจะมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี
นาจิบ วัย 69 ปี ยังอยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 12 ปีในความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ฟอกเงิน และกระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนก่อให้เกิดความเสียหาย (breach of trust) หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบเงินสด จำนวน 42 ล้านริงกิต จาก SRC International ซึ่งเป็นอดีตหน่วยงานในสังกัด 1MDB ถูกโอนมาเข้าบัญชีส่วนตัวของเขา
แม้คำตัดสินของศาลในวันนี้ (3) จะช่วยลดแรงกดดันให้ นาจิบ ได้บ้าง ทว่าอดีตนายกฯ ผู้นี้ยังต้องเดินหน้าต่อสู้คดีทุจริตอีกนับสิบๆ ข้อหา ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะต้องใช้ชีวิตในเรือนจำยาวนานขึ้นไปอีก
1MDB เป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่ นาจิบ ร่วมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 หลังเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นปีแรก โดยมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น โรงไฟฟ้าและกิจการด้านพลังงานอื่นๆ ทั้งในมาเลเซียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
1MDB เริ่มถูกเพ่งเล็งเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารจัดการเงิน โดยพบว่าในปี 2014 หรือหลังจากที่ก่อตั้งได้เพียง 5 ปี กองทุนแห่งนี้ก่อหนี้สินสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
กระแสข่าวที่ว่าเงินจาก 1MDB ถูกพรรคพวกของ นาจิบ สูบออกไปซื้อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินราคาแพงในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดของศิลปินดัง “ปิกัสโซ” เครื่องบินส่วนตัว เรือซูเปอร์ยอชต์ โรงแรม และเครื่องเพชร กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ นาจิบ และพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ขณะที่ เจฟฟ์ เซสชันส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ถึงกับเคยพูดว่า คดียักยอกเงิน 1MDB ถือเป็นการทุจริตปล้นชาติปล้นแผ่นดิน (kleptocracy) อย่างร้ายแรงที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยร่วมสอบสวนมา
ที่มา : รอยเตอร์, MGROnline