สำนักข่าวอิศราจัดงานครบรอบ 12 ปี เปิดเวทีเสวนาอนาคตและทิศทางข่าวสืบสวนโลก "ประสงค์ วิสุทธิ์" เผยข่าวสืบสวนภารกิจหลักสุนัขเฝ้าบ้าน แม้ยุคนี้มีระบบดิจิทัล แต่ปัญหาคือข้อมูลข่าวสาร ชี้อีกหลายหน่วยงานภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูล ด้านนักวิชาการชี้ ยก ‘ปานามา-แพนโดราเปเปอร์’ ชี้ชัดข่าวสืบสวนใหญ่ต้องแชร์กันทำทั้งโลก สร้างแรงกระเพื่อม มีคุณค่าต่อประชาชน
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่ห้องจามจุรีบอลรูม โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักข่าวอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ Investigative News of Thailand โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา เป็นประธาน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เพื่อฉลองครบรอบ 12 ปี แห่งการก่อตั้งสำนักข่าวอิศรา เมื่อปี 2554 เพื่อผลิตข้อมูลข่าวสารเฉพาะด้าน ได้แก่ ข่าวเพื่อชุมชน ข่าวนโยบายสาธารณะ และข่าวสืบสวน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่างๆ
นายมานิจกล่าวเปิดงานว่า ชื่อของสำนักข่าวเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอิศรา อมันตกุล นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชื่อเสียงและมีเกียรติคุณอย่างยิ่งในอดีต โดยได้ตั้งขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการกับนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยเมื่อ 12 ปีมาแล้ว เพื่อทำหน้าที่ในการทำข่าวต่างๆ รวมทั้งการทำข่าวสืบสวน เพื่อนำเสนอความจริงด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้เพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขต่อไป
"การทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉ้อราษฎร์บังหลวงในภาครัฐ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้กระทำผิดมีวิธีการกระทำผิดที่ซับซ้อน แยบยล ซ่อนเงื่อนมากขึ้น คู่ขนานไปกับเทคโนโลยีที่เอื้อให้การกระทำผิดมิชอบง่ายขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของสื่อสารมวลชนที่ต้องรู้ร้อน รู้หนาว เพื่อให้เกิดการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ" นายมานิจกล่าว
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวในหัวข้อ ‘ISRA TALKS บทบาทข่าวสืบสวนในการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ว่า อาจมีคำถามว่าทำไมต้องทำข่าวสืบสวน ก็เพราะว่าข่าวสืบสวนถือเป็นภารกิจหลักของสื่อมวลชนที่เรียกกันว่า สุนัขเฝ้าบ้าน สื่อมวลชนมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในการทำข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะอาจจะนำเสนอข้อเท็จจริงพื้นๆ ไม่พอ ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ ตรวจสอบเอกสาร และการลงพื้นที่ ซึ่งในยุคปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก การสืบค้นเอกสารต้องใช้ระบบดิจิทัลในการค้นคว้าข้อมูล
ต้นแบบของข่าวเชิงสืบสวน คือ คดีวอเตอร์เกต (Watergate) อันโด่งดัง ซึ่งนักข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ต้องยึดเป็นแบบอย่างคือ ความอดทนและกัดไม่ปล่อย อีกจุดสำคัญคือ ต้องรักษาความลับของแหล่งข่าว (Deep Throat) จริงๆ ในไทยมีข่าวสืบสวนจำนวนมาก เช่น ข่าวการทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งข่าวนี้เริ่มจากจุดเล็กๆ คือ การที่มีองค์กรหนึ่งคิดค้นกระบวนการบริจาคเงิน โดยบริจาคมากก็ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์เยอะ วิธีการคือ ทำใบอนุโมทนาบัตรปลอมขึ้นมา มีพระชั้นผู้ใหญ่ เอกชน เข้ามาร่วมขอเครื่องราชฯ ซึ่งในช่วงนั้นมีผู้บริจาคถึงหลักพันล้านบาท เมื่อขุดคุ้ยขึ้นมาก็กลายเป็นข่าวใหญ่จนตำรวจต้องมาขอแฟ้มไป คดีนี้อยู่ในชั้นศาลยาวนาน 20 ปี ผลกระทบทำให้เกิดการปฏิรูประบบการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญในการทำข่าวของประชาชนคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐที่ไม่เปิดเผยข้อมูล เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีการปรับปรุงก็เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการเข้าถึงและป้องกันการคอร์รัปชันได้มาก น่าเสียดายที่มีการพูดว่าข่าวเชิงสืบสวนลดน้อยถอยลง เพราะเข้าถึงยาก ประชาชนไม่ดู เรามีคนสืบสวนให้เสร็จครับ แล้วเอามาแฉ แล้วสื่อก็เอาไปตาม เราไม่ได้สืบสวนด้วยตัวเอง แนวโน้มของสื่อในการนำเสนอน้อยลง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ส่วน น.ส.ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านประเทศมาเลเซีย นักข่าวอิสระ และสมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) กล่าวในหัวข้อ ‘อนาคตและทิศทางข่าวสืบสวนโลก’ ว่า สำนักข่าวอิศรา เป็นสำนักข่าวที่มีปรัชญาเป็นของตัวเอง ไม่แสวงหากำไร มีเป้าหมายเพื่อที่จะรื้อ ค้น ขุด นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะคือข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน โดยได้เคยจับมือกันทำข่าวเอกสารจำนวนมาก ที่ในเวลาต่อมาคือการเปิดโปงธุรกรรมอื้อฉาว ปานามาเปเปอร์
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการทำข่าวสืบสวนของโลก คือ การแชร์ข้อมูล เพราะในกรณีปานามาเปเปอร์มีข้อมูลมหาศาล ครั้งนี้ ทำกันเองไม่ไหว จึงมีการติดต่อ ICIJ เพื่อร่วมกันทำงานนี้ เฉพาะในไทยมีถึง 10,000 ไฟล์ หน้าที่ของตนคือ นั่งอ่าน หาชื่อ หาความเกี่ยวโยง แล้วส่งต่อสำนักข่าวอิศรา ในการหาความเชื่อมโยงอย่างเมกเซนส์ที่สุด จนเจอตระกูลผู้ร่ำรวยในประเทศแทบทุกตระกูล และมีการตั้งบริษัทนอกอาณาเขตมากมายหลายร้อยบริษัท
“เราเชื่อว่าการทำข่าวอย่างยุติธรรม จะต้องให้โอกาสแหล่งข่าวชี้แจง เราจัดการอย่างระมัดระวัง เขียนจดหมายติดต่อหาคำตอบ แต่น่าเสียใจที่เราไม่เคยได้รับคำตอบตรงๆ เลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพบคือ ลูกค้า 1 ราย ไม่ได้มีบริษัทเดียว แต่มีเครือข่ายโยงไปมา หน้าที่ของนักข่าวคือ ไปดูเครือข่ายนี้ แล้วแลกดูว่าใช้ทำอะไร เชื่อมโยงกับอะไร บางครั้งก็ได้คำตอบ บางครั้งก็ไม่ได้คำตอบ บางครั้งก็ใกล้จะได้คำตอบ แต่ส่วนใหญ่เรามีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ” น.ส.ปรางทิพย์กล่าว
น.ส.ปรางค์ทิพย์กล่าวว่า สำหรับปานามาเปเปอร์ส่งผลกระทบหลายอย่างมาก เช่น ไอซ์แลนด์ นายกรัฐมนตรีต้องประกาศลาออก เพราะเกิดการประท้วงใหญ่ในประเทศ เพราะตัวนายกฯ และภรรยาไปมีบริษัทในต่างประเทศ หรือที่สเปนและมองโกเลีย นักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องลาออก ที่ปากีสถาน ประธานาธิบดีก็ต้องลี้ภัยหนีคดีไปอยู่มหานครดูไบ เพราะตรวจพบการมีบริษัทนอกประเทศจนเสียชีวิต โดย 3 ปีหลังจากปานามาเปเปอร์ได้รับการเผยแพร่ ประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องภาษีโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ติดตามเอาภาษีที่หลุดรั่วออกไปจากกลไกการตั้งบริษัทนอกอาณาเขตรวมกว่า 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถือได้ว่าปานามาเปเปอร์เป็นการปักหมุดการทำข่าวสืบสวนยุคดิจิทัล ซึ่งแสดงถึงโลกยุคใหม่ที่ไม่เหมือนในอดีต และเราก็ไม่รู้ว่าการทำข่าวในอนาคตจะออกมาในลักษณะใด และในปี 2564 ก็มีแพนโดราเปเปอร์เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปานามาเปเปอร์ มีไฟล์รวบรวมไว้ 12 ล้านไฟล์ มีนักข่าวช่วยกันทำ 600 คนทั่วโลก มีองค์กรสื่อทั่วโลกช่วยกัน 100 กว่าองค์กร ซึ่งมีกรณีกองทุนวันเอ็มดีบี (One MDB) เกิดขึ้นจากเอกสารชุดนี้ทำให้นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียต้องถูกจำคุก โดยตัวการหลบหนีไปแล้ว ส่วนประเทศไทยพบตระกูลที่ร่ำรวย 6 ตระกูลตั้งบริษัทนอกอาณาเขตรวม 100 บริษัท
“ข่าวสืบสวนสอบสวนจะไม่ไปไหน ตราบเท่าที่นักข่าวสืบสวนทำตัวให้เป็นสถาบันที่ใครก็เชื่อถือได้ ประชาชนและสังคมต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจกับแหล่งที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ที่สามารถทำความเข้าใจกับโลก และความซับซ้อนต่างๆ เพื่อให้รู้สิทธิของตัวเอง สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตและแสวงหาความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง ที่สำคัญ เวลาไปเลือกตั้งจะได้คิดว่าต้องการอะไรจากการเลือกตั้ง เป็นการไปใช้สิทธิอย่างมีความหมาย ของขวัญที่ดีที่สุดที่สื่อมวลชนมอบให้สังคมได้ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ว่านี้” น.ส.ปรางค์ทิพย์กล่าว