xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจตัวเองก่อนเป็น "โรคคาโรชิ" โหมงานหนักจนตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สลดใจ... พนักงานเสียชีวิตในหน้าที่ และต้องมีอีกกี่ชีวิต “จากไป” เพราะ “ทำงานหนัก” เกินร่างกายรับไหว?

“การทำงานหนักจนตาย” กลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงในบ้านเราตอนนี้ จากเคสสุดสะเทือนใจ ที่เกิดขึ้นกับ “เบิร์ด-ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์”

เขาคือเจ้าหน้าที่อาวุโส วัย 44 ปี รับผิดชอบการจัดผังรายการของสถานีข่าว TNN ที่เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน

เรื่องราวนี้ได้ถูกแฟนเพจ จอดับนำออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ ว่าสื่อมวลชนรายนี้ ทำหน้าที่ควบคุมผังรายการคนเดียวถึง 2 ช่อง โดยไม่มีได้การหาคนมาช่วยแบ่งเบา



“ในแต่ละวัน เขาต้องทำงานเกินเวลา และแต่ละสัปดาห์ก็ทำงานเกิน 5 วัน บางสัปดาห์ซัดไป 7 วันรวด พอนานไปร่างกายก็เริ่มแย่ มีอาการป่วย พอลาหยุด ลาป่วย ไปได้แค่วันสองวัน ก็โดนโทรจิกตามให้รีบกลับมาทำผังรายการ นี่มันสถานีโทรทัศน์หรือโรงงานนรกกันแน่ เป็นใครเจอแบบนี้ ก็เสื่อมโทรมทั้งร่างกายและจิตใจ”

ความอ่อนล้าทั้งภายนอกและภายในสะสมเป็นเวลานาน จนกระทั่งร่างกายถึงขีดจำกัด “เบิร์ด” จากไป ขณะที่ตนเองยังอยู่บนโต๊ะทำงาน

“คงต้องให้ผมตายก่อนละมั้ง เขาถึงจะหาคนมาช่วยงาน” ประโยคตัดพ้อที่เพื่อนร่วมงาน เคยได้ยินจากปากชายผู้ปฏิบัติหน้าที่จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

เหตุการณ์นี้ชวนให้กลับไปตั้งคำถามถึงประโยคที่มักถูกพูดถึงบ่อยครั้งว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใครตาย” ที่ดูจะขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่ามนุษย์เงินเดือน ต้องโหมงานหนักจนส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและใจ



ในทางการแพทย์ ได้มีการระบุอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานยาวนานเกินกว่าร่างกายจะรับได้ จนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตว่า “โรคคาโรชิ” หรือ Karoshi Syndrome หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “โรคบ้างาน”

สาเหตุทางกายภาพหลักๆ ที่ทำให้เสียชีวิตจากการทำงาน คือ การทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดอาการอ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอจากการทำงานล่วงเวลา ร่างกายขาดสารอาหาร และอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิต ด้วยอาการ กล้ามเนื้อหัวใจตาย เหตุขาดเลือดชนิดเฉียบพลัน

นอกจากนี้ อีกสาเหตุของโรคดังกล่าวยังเกิดได้จาก “ความเครียดสะสม” เครียดและห่วงในงานเป็นอย่างมาก จนส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ และในท้ายที่สุด ก็จบลงด้วยการตัดสินใจจบชีวิตตนเอง

ทางที่จะป้องกันไม่ให้ถูก “โรคคาโรชิ” เล่นงาน มีวิธีง่ายๆ คือการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ให้ตนเองได้มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียง และให้คำนึงไว้เสมอว่า “สุขภาพต้องมาก่อนงาน”



[ แถลงการณ์จากสำนักข่าว TNN ]

สำหรับเคสสูญเสียบุคลากรในวงการสื่อนั้น ล่าสุดทางต้นสังกัดอย่าง “สำนักข่าว TNN” ออกแถลงการณ์ตามมา มีใจความขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ล่วงลับเป็นอย่างยิ่ง

รวมถึงจะมีการดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือครอบครัว ในด้านเงินจำนวน 24 เดือนของเงินเดือนปัจจุบัน, เงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ, เงินจากกองทุนประกันสังคมตามสิทธิ และการเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรมศพตลอดจนงานฌาปนกิจ



[ สุชาติ ชมกลิ่น ]

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “สุชาติ ชมกลิ่น” ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง

หากพบว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ เงินค่าทำศพ จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท

นอกจากนี้จะมี เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งมีกำหนด 10 ปี และเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม

แต่หากเสียชีวิตไม่เนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิเป็นเงินค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต และเงินบำเหน็จชราภาพ

ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน ว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



[ ธีรนัย จารุวัสตร์ ]

ฟากฝั่งคนในแวดวงสื่อด้วยกันอย่าง “ธีรนัย จารุวัสตร์” อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวถึงประเด็นนี้เช่นกัน

โดยมีการวอนให้ต้นสังกัด เยียวยาครอบครัว และออกมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ รวมถึงเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงแรงงาน ตรวจสอบ

ทั้งยังสะท้อนการทำงานของสื่อสมัยนี้ ที่มีการแข่งขันกันสูงมาก จนอาจเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายแรงงานหลายเรื่อง ทั้งการทำงานล่วงเวลาที่ทำให้ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ และไม่ได้รับค่าตอบแทน ทำให้พนักงานไม่ได้ใช้วันหยุดและวันลาตามสมควร

“เรื่องนี้เป็นปัญหาที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนทราบกันมาตลอด แต่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด ประเด็นนี้จึงสมควรได้รับความสนใจและแก้ไขเป็นรูปธรรมในเร็ววัน”



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Line
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ "จอดำ" และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น