รอยเตอร์ - เซเลนสกีย้ำปักหลักปกป้องเมืองบัคมุตต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่า ยูเครนยอมเสียทุกอย่างหรือแลกด้วยชีวิตของทุกคน แขวะมาครงเสียเวลาเปล่าในการหาทางโน้มน้าวให้รัสเซียยอมเจรจา
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวเรื่องดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์คอร์เรียร์ เดลลา เซราของอิตาลีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 ก.พ.) ขณะที่มีการถกเถียงว่า กองทัพเคียฟที่มีกำลังพลน้อยกว่าควรปักหลักอยู่ในเมืองบัคมุตต่อทั้งที่รัสเซียระดมบดขยี้ด้วยปืนใหญ่หรือไม่
บัคมุตเป็นแนวรบในภูมิภาคโดเนตสก์ทางตะวันออกของยูเครน ที่ก่อนเกิดสงครามเคยมีประชากร 70,000 คน แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 5,000 คน
เซเลนสกีกล่าวว่า บัคมุตไม่ใช่เมืองใหญ่และถูกทำลายเช่นเดียวกับอีกหลายเมืองในดอนบาส แต่ยูเครนจำเป็นต้องปกป้อง ทว่า ไม่ได้หมายความว่า ยูเครนยอมเสียทุกอย่างหรือแลกด้วยชีวิตของทุกคน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า บัคมุตมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่ายุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นประตูสู่เมืองด้านตะวันตกสุดของโดเนตสก์อย่างครามาทอร์สก์ และสโลเวียนสก์
เซเลนสกีระบุว่า รัสเซียตัดสินใจแน่วแน่ในการเพิ่มการกดดัน เช่นเดียวกับดนิโปรที่อยู่ตอนกลางของประเทศ เขายังบอกว่า ยูเครนจะต้านทานการโจมตีของรัสเซียควบคู่กับเตรียมการโจมตีกลับ
ทั้งนี้ รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และมุ่งโจมตีเพื่อควบคุมเขตดอนบาส ที่ประกอบด้วยภูมิภาคโดเนตสก์และลูฮันสก์ หลังจากบุกเคียฟไม่สำเร็จในช่วงต้นของสงคราม
กองทัพรัสเซียโอบล้อมบัคมุตมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมตอนที่ยึดเมืองใหญ่ 2 เมืองทางเหนือได้ โดยขณะนี้สามารถรุกคืบได้ทีละน้อยโดยมีทหารรับจ้างของบริษัทวากเนอร์ กรุ๊ปของรัสเซียเป็นหัวหอก
กระนั้น โอเลคซานดร์ โควาเลโน นักวิเคราะห์ด้านการทหารจากกลุ่มคลังสมองอินฟอร์เมชัน รีซิสแทนซ์ ของยูเครนระบุว่า บัคมุตที่มีแม่น้ำและพื้นที่ป่าเป็นปราการป้องกันยังไม่ยอมจำนน แต่มีบทบาทสำคัญในการเป็นกับดักที่ทำให้รัสเซียสูญเสียทั้งทรัพยากรและกำลังพลจำนวนมากตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่ออิตาลี เซเลนสกียังกล่าวว่า ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กำลังเสียเวลาเปล่าในการหาทางโน้มน้าวให้รัสเซียยอมเจรจา โดยตัวเขาเองนั้นได้ข้อสรุปแล้วว่า ไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคคิของมอสโกได้
ผู้นำเคียฟเสริมว่า ถ้ารัสเซียตัดสินใจโดดเดี่ยวตัวเองอยู่กับความฝันในการฟื้นอาณาจักรโซเวียตโบราณ ยูเครนคงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะรัสเซียต้องตัดสินใจเองว่า จะร่วมมือกับนานาชาติบนพื้นฐานการเคารพกันและกันหรือไม่
เขายังปฏิเสธข้อบ่งชี้ว่า มาตรการแซงก์ชันของตะวันตกผลักไสให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียถูกโดดเดี่ยว แต่เป็นเพราะรัสเซียเปิดฉากทำสงครามที่ทำให้ความสำคัญของปูตินลดทอนลง
การแสดงความคิดเห็นนี้เป็นการตอบโต้ข้อเสนอแนะของมาครง ว่า รัสเซียไม่ควรถูกทำให้พ่ายแพ้หรือถูกบดขยี้ และความขัดแย้งในยูเครนควรแก้ไขด้วยการเจรจา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ก.พ.) มาครงเรียกร้องให้พันธมิตรเร่งให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน และบอกว่า ไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงระบอบ และไม่เชื่อว่า มีโอกาสน้อยมากที่ประชาสังคมในรัสเซียจะพบทางออกในระบอบประชาธิปไตย และไม่มีทางเลือกอื่นในการนำปูตินกลับสู่โต๊ะเจรจา
ความคิดเห็นดังกล่าวกระตุ้นให้มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ออกมาเตือนว่า ฝรั่งเศสควรจดจำความพ่ายแพ้ของนโปเลียน โบนาปาร์ต ในรัสเซียในศตวรรษที่ 19 ให้ได้
นอกจากนี้ มาครงยังถูกพันธมิตรบางชาติในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) วิจารณ์จากการแสดงความคิดเห็นคลุมเครือเกี่ยวกับนโยบายต่อสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
ในการหารือเมื่อวันอาทิตย์ เซเลนสกีไม่ได้กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นล่าสุดของมาครง แต่ทั้งคู่คุยกันเรื่องยุทธศาสตร์ที่รวมถึงการตัดสินใจร่วมกันซึ่งผู้นำยูเครน ระบุว่า จะมีขึ้นก่อนครบรอบ 1 ปีการรุกรานของรัสเซียในสัปดาห์นี้
ก่อนเยือนปารีสช่วงสั้นๆ เมื่อไม่นานมานี้ เซเลนสกีตั้งข้อสังเกตว่า จุดยืนแข็งแกร่งของมาครงต่อรัสเซียในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน