ประชาชนนับล้านคนร่วมชุมนุมตามท้องถนนสายต่างๆ ทั่วฝรั่งเศสในวันเสาร์ (11 ก.พ.) นับเป็นวันที่ 4 ของการเคลื่อนไหวต่อต้านแผนปฏิรูปบำนาญของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานเตือนจะยกระดับการผละงานประท้วง หากว่าไม่ยอมยกเลิกแผนดังกล่าว
ต่างจากการประท้วง 3 วันก่อนหน้านี้ การผละงานประท้วงทั่วประเทศในวันเสาร์ (11 ก.พ.) ไม่ได้เกิดจากการนัดหมายใดๆ และความเคลื่อนไหวผละงานประท้วงโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าของบรรดาเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมการจราจรทางอรากาศ ณ สนามบินแห่งที่ 2 ของปารีส ทำให้เที่ยวบินมากกว่าครึ่งต้องถูกยกเลิก
มาครง และรัฐบาลของเขากำลังเผชิญศึก 2 ด้าน ในความพยายามปรับเพดานอายุบำนาญจาก 62 ปี เป็น 64 ปี โดยเจอทั้งการต่อต้านบนท้องถนน เช่นเดียวกับเสียงคัดค้านในความพยายามผลักดันร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบในรัฐสภา
สหภาพแรงงาน CGT อ้างว่ามีผู้ร่วมชุมนุมในปารีสเพียงแห่งเดียว 500,000 คน และทั่วประเทศ 2.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปกติแล้วมักให้ตัวเลขต่ำกว่า บอกว่ามีผู้ประท้วงทั่วประเทศ 963,000 คน และในเมืองหลวง 93,000 คน
ตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่าการผละงานประท้วงหนที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แต่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของบางส่วน ที่หวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในจำนวนที่มากมายกว่านี้
ในการประท้วงตามเมืองต่างๆ ของฝรั่งเศส ภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์พบเห็นตำรวจกำลังใช้การฉีดน้ำจัดการกับผู้ชุมนุมในเมืองแรนส์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ส่วนในกรุงปารีส ผู้ประท้วงเดินไปตามเส้นทางที่ใช้เป็นประจำ จากจัตุรัสสาธารณรัฐไปจัตุรัสแห่งชาติ ภายใต้ป้ายข้อความระบุว่า "ไม่ทำงานอีกต่อไป"
มีความตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่อรถยนต์คันหนึ่งถูกพลิกหงายท้องและถังขยะโดนคว่ำแล้วจุดไฟเผา กระตุ้นให้ตำรวจที่ถือโล่ป้องกันและหน่วยดับเพลิงเข้าแทรกแซงสถานการณ์
การเดินขบวนครั้งนี้นำโดยบรรดาแกนนำของสหภาพแรงงานหลัก 8 แห่งของฝรั่งเศส ซึ่งยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่น และจนถึงตอนนี้รัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความแตกแยกกับพวกเขาได้
บรรดาสหภาพแรงงานระบุในถ้อยแถลงร่วม ว่าพวกเขานัดผละงานครั้งใหญ่ ซึ่งจะทำให้ฝรั่งเศสอยู่ในภาวะแน่นิ่ง ในวันที่ 7 มีนาคม หากว่ารัฐบาลยังคงหูหนวกตาบอดกับการระดมพลของประชาชน ทั้งนี้ วันที่ 7 มีนาคม เป็นวันที่ร่างกฎหมายปฏิรูปบำนาญมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาฝรั่งเศส
แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขามีแผนชุมนุมและผละงานอีกครั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้
ฟิลิป มาร์ติเนซ ประธานสหภาพแรงงาน CGT กล่าวว่า "ตอนนี้ลูกบอลอยู่ในคอร์ตของประธานาธิบดีและรัฐบาลแล้วที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าความเคลื่อนไหวจะเข้มข้นขึ้นและหนักหน่วงขึ้น หรือพวกเขาใส่ใจให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน"
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่หอควบคุมการบินที่สนามบินออร์ลีของกรุงปารีส ทำการประท้วงโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ผลก็คือจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินจากศูนย์กลางการบินหมายเลข 2 ของกรุงปารีสแห่งนี้ ราวๆ 50% ในช่วงบ่ายวันเสาร์ (11 ก.พ.)
ในความเคลื่อนไหวที่เสี่ยงก่อผลกระทบรุนแรง ทางสภาพแรงงานต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของพนักงานในระบบขนส่งสาธารณะ RATP ในกรุงปารีส นัดผละงานประท้วงในวันที่ 7 มีนาคม "แม้ถูกปฏิเสธจากประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมากมายมหาศาล แต่รัฐบาลยังคงมีความตั้งใจปฏิรูปที่โหดร้าย ไม่ยุติธรรมและไร้ความชอบธรรม"
ระหว่างให้สัมภาษณ์ที่บรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาครง เรียกร้องสหภาพแรงงานต่างๆ ให้แสดงออกถึง "จิตวิญญาณแห่งความรับผิดชอบ" และ "ไม่ควรขัดขวางวิถีชีวิตทั่วประเทศ"
พรรครัฐบาลของมาครง เผชิญความท้าทายในการผลักดันร่างกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภาเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาสูญเสียเสียงข้างมากในศึกเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
พวกเขาต้องการแรงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านขวาจัด สำหรับหลีกเลี่ยงการพึ่งพามาตรการหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ที่เปิดทางให้ผ่านร่างกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องมีการลงมติ
(ที่มา : เอเอฟพี)