xs
xsm
sm
md
lg

ทนค่าครองชีพไม่ไหว! พยาบาลหลายหมื่นทั่วอังกฤษประท้วงอีกรอบ เรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พยาบาลหลายหมื่นคนทั่วอังกฤษ ผละงานประท้วงตามโรงพยาลต่างๆ ในวันพุธ (18 ม.ค.) ในความเคลื่อนไหวเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง โดยบอกว่าค่าจ้างระดับต่ำทำให้พวกเขาประสบปัญหาในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่ความตึงเครียดอย่างสุดขั้วในที่ทำงานได้ผลักพยาบาลจำนวนมากถึงขีดสุดของความอดทน

พยาบาล เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน พนักงานขับรถไฟ ครู พนักงานไปรษณีย์ และลูกจ้างอีกหลายภาคส่วน ต่างทำการผละงานประท้วงรอบแล้วรอบเล่าในการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อแตะระดับ 10% สวนทางกับค่าจ้างของพวกเขาที่ปรับขึ้นช้ากว่ามาก

"งานนี้กำลังเข่นฆ่าพวกพยาบาลอย่างช้าๆ" เดวิด เฮนดี พยาบาลวัย 34 ปีรายหนึ่ง ซึ่งร่วมกับคนอื่นอีกราวๆ 100 คน ยืนเรียงแถวประท้วงอยู่บริเวณด้านนอกของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน

การชุมนุมบริเวณนี้เป็นหนึ่งในการชุมนุมหลายจุด ซึ่งป็นส่วนหนึ่งของการนัดผละงานประท้วงของราชวิทยาลัยการพยาบาลแห่งสหราชอาณาจักร ครั้งที่ 2 ในเวลาห่างกันราว 1 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ได้ผละงานประท้วงมาแล้วหนหนึ่งในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 100 ปี ของราชวิทยาลัยการพยาบาลแห่งนี้

จนถึงตอนนี้รัฐบาลยังคงขัดขืนไม่ทำตามเสียงเรียกร้องของทางพยาบาลในการเจรจาเกี่ยวกับค่าจ้าง โดยยืนกรานว่าจะไม่เปลี่ยนแนวทางปรับขึ้นค่าแรง 4-5% ในปี 2022/23 ตามคำแนะนำของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านทบทวนค่าจ้าง และจะพูดคุยเจรจาเกี่ยวกับการทบทวนปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับปี 2023/24 เท่านั้น

สตีฟ บาร์เคลย์ รัฐมนตรีสาธารณสุข บอกกับพวกผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในวันพุธ (18 ม.ค.) ว่าเขารู้สึกผิดหวังต่อการผละงานประท้วง และบอกว่าข้อเรียกร้องด้านค่าจ้างของเหล่าพยาบาลนั้นไม่สามารถทำตามได้

"เราต้องการทำงานอย่างสร้างสรรค์กับสหภาพแรงงานทั้งหลาย ในแง่ของกระบวนการทบทวนค่าจ้างของปีที่กำลังมาถึงนี้ ตระหนักถึงแรงกดดันของเงินเฟ้อและตระหนักถึงแรงกดดันที่มีต่อระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service)" เขากล่าว

พวกผู้ประท้วงคนอื่นๆ สะท้อนความกังวลแบบเดียวกับ เฮนดี โดยเน้นย้ำว่าประเด็นข้อพิพาทนั้นมีมากกว่าเรื่องค่าจ้าง โดยเฉพาะเรื่องของงานล้นมือ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเงินเฟ้อระดับ 10.5% ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในวันพุธ (18 ม.ค.) โดยที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1977 ประเด็นค่าจ้างจึงยังคงเป็นแก่นกลางของการประท้วง

"เราประสบปัญหามานานหลายปีแล้ว บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นและค่าจ้างของเราไม่ได้สะท้อนสิ่งนั้น" เจนนี จีเยอร์ทสัน วัย 42 ปี ซึ่งทำงานเป็นพยาบาลมานานกว่า 2 ทศวรรษกล่าว "คุณมีพื้นฐานการใช้ชีวิตเดือนต่อเดือน หากมีปัญหาบางอย่าง อย่างเช่นเบรกรถเสีย หรือกาต้มน้ำเสีย หรือมีค่าใช้จ่ายไม่คาดคิดอื่นๆ มันจะยากลำบากมาก และเครียดสุดๆเลย"

ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลยูกอฟ ที่เผยแพร่ในวันอังคาร (17 ม.ค.) พบว่ามีถึง 63% ที่สนับสนุนการผละงานประท้วงของบรรดาพยาบาล

ในการตอบโต้ความเคลื่อนไหวผละงานประท้วงที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน นายกรัฐมนตรี ริซี ซูแน็ก เปิดตัวร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งจะบังคับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าบางส่วน ให้คงระดับการบริการขั้นต่ำเอาไว้ระหว่างการผละงานประท้วง

บรรดาสมาชิกสภาสามัญชนให้การสนับสนุนเบื้องต้นต่อร่างกฎหมายอันเป็นที่ถกเถียงนี้เมื่อวันจันทร์ (16 ม.ค.) ซึ่งมันโหมกระพือความไม่พอใจจากบรรดาสหภาพแรงงานเป็นอย่างมาก

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น