xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกอดีต! รัสเซียเหน็บสหรัฐฯ 'จักรวรรดิแห่งการโกหก' กุเรื่องอาวุธทำลายล้างข้ออ้างบุกอิรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพจากเอเอฟพี) นาวิกโยธินสหรัฐฯ เอาธงชาติอเมริกาปิดหน้ารูปปั้นของซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรัก ในกรุงแบกแดด เมื่อปี 2003
สหประชาชาติควรเปิดการสืบสวนสหรัฐฯ ในโทษฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากความเห็นของ ยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา (สภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย) ชี้แนะในวันอาทิตย์ (5 ก.พ.) พร้อมวิจารณ์อเมริกาว่าเป็น "จักรวรรดิแห่งการโกหก" ยกตัวอย่างกรณียกทัพบุกอิรัก โดยใช้ข้ออ้างจอมปลอม กล่าวหาอันเป็นเท็จว่าแบกแดดครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

ในวาระครบรอบ 20 ปี ที่ โคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น แถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อ้างความชอบธรรมเกี่ยวกับการยกพลรุกรานอิรัก ทาง โซโลดิน ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบบนเทเลแกรม ในสิ่งที่เขาให้คำจำกัดความอเมริกาว่าเป็น "จักรวรรดิแห่งการโกหก"

ประธานสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ระบุว่าวันนี้ถือเป็นวาระครบรอบหนึ่งในการโป้ปดประชาคมโลกครั้งใหญ่ที่สุดโดยสหรัฐฯ พร้อมเท้าความถึงการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันนั้น ซึ่งระหว่างนั้น พาวเวลล์ "กล่าวหาอิรักกำลังผลิตอาวุธทำลายล้างสูง พร้อมกับมอบขวดๆ หนึ่งบรรจุแป้งสีขาวเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งทางรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ อ้างว่าขวดๆ นี้อาจถูกใช้บรรจุแอนแทรกซ์

โวโลดิน กล่าวว่า แม้สหประชาชาติไม่อนุมัติรุกรานอิรัก แต่สหรัฐฯ ลงมือโจมตีประเทศแห่งนี้อยู่ดี พร้อมระบุ "พลเรือนครึ่งล้านคนต้องตกเป็นเหยื่อ ประธานาธิบดีถูกแขวนคอ ประเทศต้องดับสูญ" และชี้ว่าต่อมา พาวเวลล์ เองยอมรับสารภาพว่าการโชว์ขวดดังกล่าวเป็นการแสดงลวงโลก แต่วอชิงตันไม่เคยรับผิดชอบใดๆ

"ทุกนโยบายของสหรัฐฯ และหมู่คณะตะวันตก อยู่บนพื้นฐานของการโกหก" ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัสเซียเขียนบนเทเลแกรม

เขาเน้นว่าพื้นฐานการโกหกดังกล่าวถูกใช้เช่นเดียวกันกับคำสัญญาของนาโต้ที่บอกว่าจะไม่ขยายขอบเขตทางทิศตะวันออก ตามหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับข้อตกลงมินสก์ ในปี 2014 และ 2015 ซึ่งฉบับหลังลงนามโดยรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในความพยายามเปิดทางสันติภาพในยูเครน ด้วยการยินยอมสถานะพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ภายในรัฐยูเครน

โวโลดิน บอกว่าข้อตกลงเหล่านั้นเป็นแค่การตลบตะแลงเช่นกัน โดยที่ อังเกรา แมร์เคิล (นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ณ ขณะนั้น) และฟรังซัวส์ ออลลองด์ (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น) ทำแบบเดียวกับที่ พาวเวลล์ทำ โดยเขาอ้างถึงคำสารภาพแบบทิ้งระเบิดของอดีต 2 ผู้นำ ซึ่งยอมรับในเดือนธันวาคมว่า ข้อตกลงมินสก์มีแค่เจตนาเตะถ่วงยื้อเวลาให้ยูเครน สำหรับเสริมความเข้มแข็งแก่กองทัพของพวกเขา

"สหประชาชาติควรสืบสวนการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติของวอชิงตัน และพวกที่เป็นคนตัดสินใจควรถูกลงโทษ เพื่อเหยื่อจำนวนหลายล้านคน ผู้ลี้ภัย โชคชะตาที่แตกสลาย และประเทศต่างๆ ที่ถูกทำลาย" โวโลดิน กล่าว

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น