ประธานาธิบดี โซรัน มิลาโนวิช แห่งโครเอเชีย ออกมาให้ความเห็นวานนี้ (30 ม.ค.) ว่า “คาบสมุทรไครเมีย” ซึ่งถูกรัสเซียผนวกตั้งแต่ปี 2014 จะไม่มีวันกลับไปเป็นดินแดนของยูเครนอีก พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลที่รัฐบาลซาเกร็บตัดสินใจไม่ส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่เคียฟ
เมื่อเดือน ธ.ค. สมาชิกรัฐสภาโครเอเชียปฏิเสธข้อเสนอเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) ในภารกิจสนับสนุนกองทัพยูเครน ในปรากฏการณ์ที่สะท้อนความไม่ลงรอยระหว่างประธานาธิบดี มิลาโนวิช กับนายกรัฐมนตรี อันเดรย์ เปลงกอวิช (Andrej Plenkovic)
มิลาโนวิช วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ตะวันตกมีต่อยูเครน และยืนยันว่าเขาไม่ต้องการให้โครเอเชียซึ่งเป็นชาติสมาชิกใหม่สุดของอียูเข้าไปพัวพันกับผลลัพธ์อันเลวร้ายของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 11 เดือนแล้ว
ผู้นำโครเอเชียกล่าวระหว่างไปเยือนค่ายทหารที่เมือง Petrinja ทางตะวันออกของประเทศ โดยบอกว่าการที่ชาติตะวันตกระดมส่งอาวุธให้เคียฟอย่างไม่หยุดหย่อนนั้น “เป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง เพราะไม่ใช่ทางออก (ของสงคราม)”
เขายังเตือนด้วยว่า การส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 (Leopard 2) ที่ผลิตโดยเยอรมนีให้ยูเครน เท่ากับผลักไสรัสเซียให้ไปจับมือกับ “จีน” มากขึ้นอีก
“มันชัดเจนอยู่แล้วว่า ไครเมียไม่มีวันกลับไปเป็นของยูเครนอีก” มิลาโนวิช กล่าว
ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนประกาศขึงขังว่าจะทวงคาบสมุทรไครเมียกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครนให้จงได้ หลังจากที่ดินแดนแห่งนี้ถูกมอสโกใช้กำลังผนวกไปเมื่อปี 2014 โดยประชาคมโลกยังไม่ให้การยอมรับ
รัสเซียอ้างว่า “ผลการลงประชามติ” ที่จัดทำขึ้นหลังทหารรัสเซียเข้ายึดคาบสมุทรไครเมีย สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของชาวไครเมียที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ทว่าประชามติดังกล่าวก็ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเช่นกัน
มิลาโนวิช ยังวิจารณ์ชาติตะวันตกว่าใช้ “2 มาตรฐาน” กับการเมืองระหว่างประเทศ พร้อมระบุว่า รัสเซียอาจจะยกกรณีที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปรับรองการประกาศอิสรภาพของ “สาธารณรัฐคอซอวอ” เมื่อปี 2008 มาเป็นข้ออ้างช่วงชิงดินแดนบางส่วนของยูเครนบ้าง
“พวกเราให้การรับรองคอซอวอ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเต็มใจของเซอร์เบียที่เคยปกครองดินแดนนี้มาก่อน” มิลาโนวิชกล่าว พร้อมออกตัวว่าไม่ได้ตั้งคำถามเรื่องอิสรภาพของคอซอวอ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึง “ความ 2 มาตรฐาน” ของตะวันตกเท่านั้น
มิลาโนวิช ซึ่งเป็นอดีตนายกฯ จากพรรคโซเชียลเดโมแครต (SDP) มักแสดงความเห็นขัดแย้งกับอียูมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีโครเอเชีย โดยมีจุดยืนทางการเมืองคล้ายๆ กับนายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี
ที่มา : รอยเตอร์