xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันลงแรงพบรัสเซียส่งออกแข็งแกร่งแม้ถูกคว่ำบาตร หุ้นสหรัฐฯ และทองคำปิดลบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น้ำมันขยับลงในวันจันทร์ (30 ม.ค.) จากสัญญาณการส่งออกของรัสเซียแข็งแกร่ง แม้ถูกแบนและกำหนดเพดานราคา ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบ ตามแรงฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและบริษัทยักษ์ใญ่อื่นๆ ขณะที่ทองคำปรับลดเช่นกัน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.78 ปิดที่ 77.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1.76 ดอลลาร์ ปิดที่ 84.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ตลาดน้ำมันอยู่ภายใต้แรงกดดัน หลังพบสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปทานจากรัสเซียยังแข็งแกร่ง แม้ถูกอียูแบน และจี7 กำหนดเพดานราคา ลงโทษกรณีรุกรานยูเครน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาไปที่การประชุมบรรดารัฐมนตรีจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย หรือที่เรียกว่า โอเปกพลัส ซึ่งจะมีขึ้นในวันพุธ (1 ก.พ.) ท่ามกลางความคาดหมายว่าโอเปกพลัสคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายใดๆ แถมยังอาจสร้างความประหลาดใจด้วยการปรับลดกำลังผลิตอีกเล็กน้อยด้วย

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบในวันจันทร์ (30 ม.ค.) ถูกฉุดจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในขณะที่นักลงทุนจับตาที่ไปกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในสัปดาห์นี้ ในนั้นรวมถึงการประชุมของธนาคารกลาง และรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ดาวโจนส์ ลดลง 260.99 จุด (0.77 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,717.09 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 52.79 จุด (1.30 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,017.77 จุด แนสแดค ลดลง 227.90 จุด (1.96 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,393.81 จุด

ภาคเทคโนโลยีกลายเป็นหนึ่งภาคที่เป็นตัวถ่วงหนักที่สุดของเอสแอนด์พี 500 หลังหุ้นของทั้งแอปเปิล แอมะซอน และกูเกิล ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่รายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ต่างขยับลงหนัก

นอกจากทั้ง 3 บริษัทแล้ว คาดหมายว่ายังมีอีกมากกว่า 100 บริษัทในเอสแอนด์พี 500 ที่เตรียมรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาไปที่การประชุมธนาคารกลางทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงเตรียมพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนต่อข้อมูลการจ้างงานของอเมริกา

ส่วนราคาทองคำในวันจันทร์ (30 ม.ค.) ปิดลบ จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากก่อนหน้านี้ทำสถิติเป็นสัปดาห์ที่ปรับขึ้นยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 6.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,939.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น