ราคาน้ำมันทรงตัวในวันพุธ (25 ม.ค.) หลังข้อมูลรัฐบาลเผยคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ส่วนวอลล์สตรีทปิดแคบ จากรายงานผลประกอบการบริษัทยักษ์ใหญ่ ขณะที่ทองคำขยับขึ้น 5 วันติดต่อกัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 2 เซนต์ ปิดที่ 80.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 1 เซนต์ ปิดที่ 86.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐฯ (อีไอเอ) เผยแพร่ข้อมูลในวันพุธ (25 ม.ค.) พบคลังน้ำมันดับสำรองของประเทศในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น 533,000 บาร์เรล เป็น 448.5 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่คาดหมายไว้ โดยผลสำรวจความคิดเห็นพวกนักวิเคราะห์ที่จัดทำโดยรอยเตอร์ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นราวๆ 1 ล้านบาร์เรล
ตลาดน้ำมันยังคงถูกฉุดรั้งจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (24 ม.ค.) ที่พบว่ากิจกรรมธุรกิจของอเมริกาหดตัวในเดือนมกราคม ถือเป็นการหดตัว 7 เดือนติดต่อกัน ก่อความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (25 ม.ค.) ปิดในกรอบแคบๆ รายงานผลประกอบการในแง่ลบของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง รื้อฟื้นความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 9.88 จุด (0.03 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,743.84 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 0.73 จุด (0.02 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,016.22 จุด แนสแดค ลดลง 20.91 จุด (0.18 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,313.36 จุด
ดัชนีแนสแดคที่เต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยี เคลื่อนไหวในแดนลบ หลังจากไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายแรกที่รายงานผลประกอบการ เปิดเผยคาดการณ์รายได้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ก่อความกังวลว่าบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่นๆ จะมีรายงานผลประกอบการในทิศทางเดียวกัน
นักลงทุนจับตาตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (27 ม.ค.) โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ความเคลื่อนไหวของตลาดทุน ประกอบกับดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร ส่งผลให้ราคาทองคำในวันพุธ (25 ม.ค.) ปรับขึ้นเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 7.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,942.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)