xs
xsm
sm
md
lg

จำลองผลลัพธ์สงครามไต้หวัน! จีนยึดไม่สำเร็จ แต่ 'ไทเป-สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น' เจ็บหนัก ชนะแบบได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบบจำลองสงครามที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ชี้ว่า หากจีนใช้กำลังเข้าควบคุมไต้หวันในปี 2026 จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่กองทัพของไทเป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็ต้องชดใช้ราคาแพงเช่นกัน

ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) เผยแพร่รายงานที่ใช้ชื่อว่า ‘The First Battle of the Next War,’ คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อยๆ 2 ลำ และทหารอเมริกา 3,200 นายจะเสียชีวิตในช่วง 3 สัปดาห์ของการสู้รบ ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น

แบบจำลองซึ่งดำเนินการถึง 24 รอบ พบว่าไต้หวันอยู่รอดในฐานะเขตปกครองตนเองในเกือบทุกกรณี แต่มันก่อความสูญเสียอย่างหนักกับทุกฝ่าย "สหรัฐฯ และญี่ปุ่น สูญเสียเรือหลายสิบลำ อากาศยานหลายร้อยลำ และกำลังพลหลายพันนาย" รายงานคาดการณ์

รายงานคาดการณ์ว่า ในส่วนของกองทัพเรือจีนจะเผชิญกับโกลาหล และปักกิ่งอาจสูญเสียกำลังพลมากถึง 10,000 นาย อากาศยาน 155 ลำ และเรือสำคัญๆ 138 ลำ

ขณะเดียวกัน ระดับขีดความสามารถของกองทัพไต้หวันจะลดลงอย่างรุนแรง และเหลือศักยภาพในการปกป้องเกาะโดยปราศจากไฟฟ้าและบริการพื้นฐาน ส่วนญี่ปุ่นอาจสูญเสียเครื่องบินราวๆ 100 ลำ และเรือรบ 26 ลำ ขณะที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในดินแดนของพวกเขาตกอยู่ภายใต้การโจมตีจากจีน

ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ ระบุว่าสงครามดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเน้นว่าปักกิ่งอาจเลือกใช้ยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวทางการทูตและบีบบังคับทางเศรษฐกิจแทน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เคยบอกว่าเป้าหมายของปักกิ่งคือการรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ไม่ตัดความเป็นไปได้ของการใช้กำลัง

รายงานเน้นว่าไม่สามารถเปรียบเทียบความขัดแย้งไต้หวันกับวิกฤตในยูเครนได้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนย้ายกำลังพลและเสบียงเข้าสู่เกาะแห่งนี้ ครั้งที่สงครามเริ่มขึ้นแล้ว

"ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ไต้หวันมีตอนที่กำลังเข้าสู่สงคราม พวกเขาต้องมีพร้อมตอนที่สงครามเริ่มต้นขึ้น" ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติระบุ พร้อมชี้ว่าวอชิงตันจำเป็นต้องให้การสนับสนุนอาวุธแก่ไต้หวันอย่างเต็มกำลังล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม รายงานสรุปว่า แม้สหรัฐฯ อาจได้รับชัยชนะในไต้หวัน แต่มันอาจเป็นชัยชนะแบบได้ไม่คุ้มเสีย อเมริกาจะจบลงด้วยความทุกข์ทรมานยาวนานกว่าฝ่ายพ่ายแพ้อย่างจีนด้วยซ้ำ

ปักกิ่งมองไต้หวัน ซึ่งปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ภายใต้นโยบาย "จีนเดียว" ซึ่งได้รับยอมรับจากสหรัฐฯ และคัดค้านความช่วยเหลือทางการทูตและทางการทหารทุกรูปแบบที่มอบแก่รัฐบาลในไทเป ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จีนกล่าวหาวอชิงตันว่าจงใจกัดกร่อนข้อตกลงที่มีมานาน ด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการกับไต้หวันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยรับปากถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการมอบการสนับสนุนด้านการทหารแก่ไต้หวัน ในกรณีที่ถูกจีนรุกราน หนแรกเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม และอีกครั้งในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม วอชิงตันรุดออกมากลับลำถ้อยแถลงต่างๆ เหล่านั้น เน้นย้ำว่สหรัฐฯ ไม่ได้ยุยงไต้หวันประกาศเอกราช

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น