กองทัพจีนเปิดเผยว่าได้ปฏิบัติการซ้อมรบรอบๆ ไต้หวันในวันอาทิตย์ (8 ม.ค.) ถือเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาห่างกันไม่ถึงเดือน โดยกระทรวงกลาโหมของไทเปเผยตรวจจับอากาศยานของปักกิ่งได้ทั้งสิ้น 57 ลำ ในนั้น 28 ลำ บินล่วงละเมิดเข้ามาในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน
จีนมองเกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน และได้ยกระดับแรงกดดันทั้งด้านการทหาร การเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเน้นย้ำคำกล่าวอ้างดังกล่าว
กองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ระบุในถ้อยแถลงในช่วงค่ำวันอาทิตย์ (8 ม.ค.) ว่ากองกำลังของพวกเขาได้ทำการลาดตระเวนร่วมเพื่อความพร้อมรบและซ้อมรบจริงในทะเลและน่านฟ้ารอบๆ ไต้หวัน โดยมุ่งเน้นไปที่การโจมตีทางภาคพื้นและจู่โจมทางทะเล
ถ้อยแถลงของกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ระบุต่อว่า เป้าหมายของการซ้อมรบคือ ทดสอบศักยภาพการสู้รบร่วม และตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยวต่อพฤติกรรมยั่วยุของกองกำลังภายนอก และกองกำลังพวกแบ่งแยกเอกราชไต้หวัน
กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุในวันจันทร์ (9 ม.ค.) ว่าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พวกเขาตรวจพบเครื่องบินของจีน 57 ลำ ในนั้น 28 ลำ บินล่วงล้ำเข้าสู่เขตป้องกันภัยทางอากาศของพวกเขา และตรวจพบเรือของกองทัพเรือจีน 4 ลำ ที่ปฏิบัติการอยู่รอบๆ เกาะ
ถ้อยแถลงระบุว่าในบรรดาเครื่องบิน 28 ลำที่ล่วงล้ำเส้นกลางของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นแนวกันชนอย่างไม่เป็นทางการของทั้งสองฝ่าย ในนั้นรวมถึงเครื่องบินซู-30 และเครื่องบินขับไล่เจ-16 ขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ H-6 จำนวน 2 ลำ บินเฉียดใกล้ทางใต้ของไต้หวัน
จีนเพิ่งทำการซ้อมรบแบบเดียวกันนี้เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว โดยคราวนั้นไทเปรายงานว่ามีฝูงรบของปักกิ่ง 43 ลำ บินข้ามเส้นกลางของช่องแคบไต้หวัน
ปักกิ่งซึ่งไม่เคยตัดความเป็นไปได้ของการใช้กำลังเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้ ได้ดำเนินการล่วงล้ำเข้าสู่น่านน้ำและน่านฟ้าใกล้ๆ ไต้หวันเป็นประจำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จีนได้ทำการซ้อมรบรอบๆ เกาะไต้หวัน ตามหลังการเดินทางเยือนเกาะแห่งนี้ของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น
ไต้หวันปฏิเสธคำกล่าวอ้างด้านอธิปไตยของปักกิ่ง และบอกว่ามีเพียงประชาชน 23 ล้านคนของเกาะที่จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง
ปักกิ่งมีความขุ่นเคืองเป็นอย่างยิ่งต่อจุดยืนสนับสนุนไต้หวันของสหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงการขายอาวุธ ทั้งนี้ อเมริกาก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่วอชิงตันคือผู้จัดหาอาวุธและผู้สนับสนุนในระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดของไทเป
(ที่มา : รอยเตอร์)