ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี มีคำสั่งยกเลิกการกำหนดอายุเกษียณขั้นต่ำเมื่อวันพุธ (28 ธ.ค.) ซึ่งจะส่งผลให้คนทำงานชาวตุรกีกว่า 2 ล้านคนสามารถเกษียณได้ทันที
มาตรการนี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AK Party) ของ แอร์โดอัน เพิ่งจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยหวังกอบกู้คะแนนนิยมจากประชาชนในช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนศึกเลือกตั้ง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินลีราตกต่ำ รวมไปถึงมาตรฐานการครองชีพที่ย่ำแย่ลง
การยกเลิกอายุเกษียณขั้นต่ำจะทำให้ชาวตุรกีซึ่งเริ่มทำงานก่อนเดือน ก.ย. ปี 1999 หรือผู้ที่ทำงานและจ่ายเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมระหว่าง 20-25 ปี มีสิทธิเกษียณได้ทันที
ก่อนหน้านี้ ตุรกีได้กำหนดอายุเกษียณ 58 ปีสำหรับผู้หญิง และ 60 ปีสำหรับผู้ชาย
วีดัต บิลกิน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมตุรกี ระบุว่า ระบบเกษียณอายุแบบใหม่จะทำให้ภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายราวๆ 100,000 ล้านลีรา หรือราว 184,000 ล้านบาท
“เรายังตอบไม่ได้ว่าจะต้องใช้เงินมากกว่า 100,000 ล้านลีราหรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีคนตัดสินใจขอเกษียณอายุทันทีมากน้อยแค่ไหน” บิลกิน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ TRT Haber เมื่อวันพฤหัสบดี (29)
ประธานาธิบดี แอร์โดอัน ระบุว่า แรงงานตุรกีราว 2.25 ล้านคนจะมีสิทธิเกษียณอายุได้ทันทีตามนโยบายใหม่ โดยในปัจจุบันมีผู้ที่รับบำนาญหลังเกษียณอยู่ในตุรกีประมาณ 13.9 ล้านคน
กลุ่มแรงงานตุรกีพยายามคัดค้านการกำหนดอายุเกษียณขั้นต่ำมานานหลายปีแล้ว โดยมองว่าควรจะนับที่ “จำนวนวันทำงาน” มากกว่า ซึ่งการยกเลิกอายุเกษียณขั้นต่ำนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้ แอร์โดอัน ได้เป็นอย่างมากก่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. ปี 2023
แอร์โดอัน ซึ่งปกครองตุรกีมานานถึง 2 ทศวรรษใช้มาตรการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของเขามีส่วนทำให้เงินลีราอ่อนค่าเหลือเพียง 1 ใน 10 จากระดับเมื่อช่วง 1 ทศวรรษที่แล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา : รอยเตอร์