xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่อง 20 โรงแรมหรู “เกาะช้าง” จ.ตราด ขอใบอนุญาตฯ ฉบับใหม่ได้ เหตุนายทะเบียนโรงแรม “ผิดหลงเล็กน้อย” ออกใบอนุญาตเกิน 1 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝ่ายกฎหมายมหาดไทย ชี้ช่อง 20 โรงแรม “เกาะช้าง” จ.ตราด ขอใบอนุญาตฯ ฉบับใหม่ได้ นับแต่ฉบับเดิมที่ชอบด้วยกฎหมายสิ้นอายุ แถมไม่ต้องเสียค่าปรับเพิ่มร้อยละยี่สิบ ของค่าธรรมเนียมต่ออายุ ที่เกิน 60 วัน หลัง “จ.ตราด-ปค.” จี้ถาม เหตุพบข้อผิดพลาด นายทะเบียนโรงแรม จ.ตราด “ผิดหลงเล็กน้อย” ออกใบอนุญาตเกินไป 1 ปี ตามกฎหมายที่ระบุไว้แค่ 5 ปี

วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้พิจารณาข้อหารือ “การขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม”

กรณี อำเภอเกาะช้าง จ.ตราด ได้ตรวจสอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม พบว่า มีข้อผิดพลาดในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี จำนวน 20 แห่ง

คณะกรรมการได้พิจารณารับฟังข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของ ผู้แทนกรมการปกครอง และ จ.ตราด แล้ว เห็นว่า ใบอนุญาต ประกอบธุรกิจโรงแรมจำนวน 20 แห่ง ได้มีการออกใบอนุญาตที่มีอายุ 6 ปี

ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมาย กำหนดไว้ 1 ปี โดยตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีอายุเพียง 5 ปี

“ใบอนุญาตฯดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงบางส่วน นายทะเบียนจึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงบางส่วน นั้นได้ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539”

แต่เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า อายุของใบอนุญาตฯ ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้วทั้งหมด การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จึงไม่สามารถกระทำได้ และสำหรับการยื่นขอต่อใบอนุญาตฉบับดังกล่าว จะต้องดำเนินการอย่างไร นั้น

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ไม่ได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง ในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองว่าใบอนุญาตดังกล่าว ได้ออกโดยมีอายุเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

จึงต้องถือว่า ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ได้เชื่อโดยสุจริตว่า ใบอนุญาตนั้นชอบด้วยกฎหมาย

“หากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ได้ดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตฯ ก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ จึงต้องถือว่าผู้ประกอบธุรกิจ ได้ยืนขอต่ออายุใบอนุญาตฯ ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด”

โดยสามารถออกใบอนุญาตฯ ฉบับใหม่ได้ นับแต่วันที่ใบอนุญาตฉบับเดิมที่ชอบด้วยกฎหมายสิ้นอายุ

มีมติให้กรมการปกครอง รับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับกรณีนี้ มีข้อมูลจากกรมการปกครอง ว่า จ.ตราดมีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564 หารือเรื่องดังกล่าว

พบว่า มีข้อผิดพลาดในการออกใบอนุญาตฯ จึงขอหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตฯ ว่าสามารถแก้ไขวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุได้หรือไม่

“และหากสามารถแก้ไขได้ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม สามารถดำเนินการยืนคำร้องขออนุญาตฯ ซึ่งเป็นการยืนคำร้องเมื่อพ้น ระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุได้หรือไม่”

และนายทะเบียนโรงแรม จ.ตราด สามารถยกเว้นค่าปรับเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของค่าธรรมนิยมต่ออายุใบอนุญาตได้ หรือไม่ อย่างไร

ต่อมา กรมการปกครองได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง จ.ตราด ทราบว่ากรณีดังกล่าว เป็นการออกใบอนุญาตฯในห้วงที่ยังไม่ได้ใช้ระบบ e- Dopa License และ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการนำข้อมูลของใบอนุญาตดังกล่าวเข้าสู่ ระบบ e-Dopa License ได้ เนื่องจากมีอายุการประกอบธุกิจฯ ปรากฏในใบอนุญาตเกินกว่า 5 ปี

ด้าน สำนักกฎหมาย สป.มท. เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมของอำเภอเกาะข้าง จ.ตราด จำนวน 20 แห่ง ได้มีการออกใบอนุญาตที่มีอายุ 6 ปี ซึ่งตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีอายุ เพียง 5 ปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 1 ปี

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงบางส่วน นายทะเบียนจึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงบางส่วนนั้นได้ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

และเมื่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นการให้ประโยชน์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว จึงต้องคำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วย

เมื่อได้พิจารณาในประเด็นการออกใบอนุญาตเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วข้างต้น

ประเด็นต่อไปต้องพิจารณาว่า การยื่นขอต่อใบอนุญาตฉบับดังกล่าวจะต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมไม่ได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่ง ทางปกครองว่าใบอนุญาตดังกล่าวได้ออกโดยมีอายุเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

จึงต้องถือว่า ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ได้เชื่อโดยสุจริตว่าใบอนุญาตนั้นได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย

หากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ได้ดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตฯ ก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นอายุหรือภายในหกสิบวันนับแต่ วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุตามที่มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 กำหนดไว้กรณี

จึงต้องถือเสมือนว่าผู้ประกอบธุรกิจ ได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตฯ ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมฉบับใหม่ได้นับแต่วันที่ใบอนุญาตฉบับเดิมที่ชอบด้วยกฎหมายสิ้นอายุ

ขณะที่ สำนักการสอบสวนและนิติการ มีความเห็นในประเด็นผลของใบอนุญาต “ที่ไม่ตรงกัน” จึงได้ มีการหารือเพิ่มเติมไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกรมการปกครอง และคณะกรรมการ

ได้ให้ความเห็นสรุปได้ว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ในฐานะนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ออกใบอนุญาต โดยกำหนดอายุใบอนุญาต เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

เป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข ความชอบด้วยกฎหมาย อันจะมีผลทำให้เป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นกรณีการออกคำสั่งทางปกครองที่มีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนความมุ่งหมายของการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ จึงไมใช่กรณีผิดพลาดเล็กน้อยตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

อันจะสามารถแก้ไขความบกพร่องนั้นได้ แต่ความบกพร่อง ในการออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าวมีผลให้ใบอนุญาต เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย แต่ยังไม่ถึงขนาดที่ทำให้คำสั่งทางปกครองตกเป็นโมฆะหรือเสียเปล่า

คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ ยังมีผลในทางกฎหมายและผูกพันผู้รับคำสั่งทางปกครองไปจนกว่าจะมีการกระทำทางปกครองอื่นมาลบล้างคำสั่งทางปกครองดังกล่าว

ซึ่งคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ อาจแก้ไขได้โดยการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่ง

แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มิได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองสำหรับการเพิกถอนใบอนุญาต ที่มีกำหนดอายุเกินกว่า 5 ปี ไว้เป็นการเฉพาะ

จึงต้องนำหลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาพิจารณา

จากกรณีดังกล่าวจีงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า จะสามารถเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้หรือไม่ และจะสามารถดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตได้อย่างไร

ต้องออกเป็นคำสั่งอย่างไร และอาจมีประเด็นว่า หากมายื่นขอต่ออายุใบอนุญาตหลังจากที่เกิน 5 ปี ไปแล้วจะต้องมีการเสียค่าปรับเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบ ของค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตหรือไม่ อย่างไร

ข้อมูลที่ ททท.สำนักงานตราด ปี 2559 สำรวจไว้มีโรงแรม รีสอร์ตในอำเภอเกาะกูดทั้งหมด 109 แห่ง ประกอบด้วยเกาะกูด 75 แห่ง 1,365 ห้อง และเกาะหมาก 34 แห่ง 556 ห้อง มีการจดทะเบียนถูกต้องเพียง 33 แห่ง หรือประมาณ 20%.


กำลังโหลดความคิดเห็น