ทุกแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ จากคำกล่าวอ้างของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ในวันอังคาร (27 ธ.ค.)
เอกสารที่เผยแพร่โดยมัสก์ ตามหลังการเข้าซื้อทวิตเตอร์ของเขา เผยให้เห็นว่าแพลตฟอร์มแห่งนี้สมรู้ร่วมคิดกับเอฟบีไป ซีไอเอ เพนตากอน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลในการสกัดข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ยูเครน และโควิด-19
"ทุกบริษัทสื่อสังคมออนไลน์มีส่วนร่วมในการเซ็นเซอร์ย่างเข้มงวด ด้วยการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญและในหลายครั้ง ตามคำสั่งอย่างโจ่งแจ้งจากรัฐบาล" มัสก์เขียนบนทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่า "ยกตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่กูเกิลทำให้ลิงก์ต่างๆ นั้นหายไป"
มัสก์ อ้างถึงเอกสารการสื่อสารภายในองค์กรของทวิตเตอร์ ที่เผยแพร่โดยผู้สื่อข่าว แมตต์ ทาอิบบี ภายใต้ความยินยอมของเขา ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงของแพลตฟอร์มแห่งนี้ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกของเอฟบีไอและซีไอเอเป็นประจำ และทางหน่วยงานเหล่านี้ได้มอบรายชื่อบัญชีที่มีปัญหาหลายร้อยบัญชีแก่บรรดาผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ เพื่อทำการระงับก่อนถึงศึกเลือกตั้งในปี 2020
นอกจากทวิตเตอร์แล้ว ทาอิบบี กล่าวอ้างด้วยว่า รัฐบาลยังได้ติดต่อกับแทบทุกบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ "ในนั้นรวมถึงเฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ เวอร์ริซอน เรดดิต หรือแม้กระทั่งพินเทอเรสต์" พร้อมระบุว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอมักอยู่ร่วมเสมอในที่ประชุมของบรรดาบริษัทเหล่านี้กับคณะทำงานเฉพาะกิจด้านอิทธิพลต่างประเทศของเอฟบีไอ
ทาอิบบี ระบุว่า แม้คณะทำงานเฉพาะกิจนี้ประชุมกัน ในคำกล่าวอ้างเพื่อหาทางต่อกรกับความพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งของรัฐต่างชาติ แต่มีเสียงร้องขอในประเด็นภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ในการยื่นฟ้องร้องทางกฎหมายหนึ่งเมื่อช่วงกลางปี โดยอัยการสูงสุดรัฐมิสซูรีและลุยเซียนา กล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลอย่างน้อย 12 แห่ง ประชุมร่วมกับบรรดาตัวแทนจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เป็นรายสัปดาห์ ในปี 2020 เพื่อตัดสินใจว่าจะเรื่องใดบ้างและบัญชีใดบ้างที่จะเซ็นเซอร์ โดยหัวข้อเหล่านั้นมีทั้งคำกล่าวอ้างแทรกแซงเลือกตั้ง ไปจนถึงโควิด-19
มัสก์ ทุ่มเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์ ซื้อทวิตเตอร์ในเดือนตุลาคม นับตั้งแต่นั้นเขาเผยแพร่เอกสารต่างๆ เปิดโปงนโยบายเซ็นเซอร์ที่ไม่โปร่งใสก่อนหน้านี้ของแพลตฟอร์มดังกล่าว ผ่านผู้สื่อข่าวอิสระหลายคน เอกสารบางส่วนเผยให้เห็นว่าทวิตเตอร์สกัดข้อมูลที่อาจก่อความเสียหายแก่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของโจ ไบเดน สมคบคิดกับเอฟบีไอลบเนื้อหาที่หน่วยงานแห่งนี้ต้องการปิดบัง ช่วยเหลือกองทัพสหรัฐฯ ทำสงครามอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ และเซ็นเซอร์เรื่องเล่าในแง่ลบของยูเครน ในนามของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอฟบีไออ้างว่าการติดต่อระหว่างหน่วยงานของพวกเขากับเจ้าหน้าที่ของทวิตเตอร์ "ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าตัวอย่างของธรรมเนียมที่มีมานานของเรา ในการติดต่อประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับภาคเอกชน"
ในส่วนของทำเนียบขาวนั้น ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวหาที่ว่า เอฟบีไอ สั่งการให้ทวิตเตอร์ เซ็นเซอร์ข้อมูลที่ก่อความเสียหายแก่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของไบเดนในปี 2020
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)