xs
xsm
sm
md
lg

‘หัวเว่ย’ เล็งประเทศตลาดเกิดใหม่ หลังถูกจองล้างจองผลาญในโลกตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


ป้ายแคมเปญทางการตลาดของ “หัวเว่ย” ในปากีสถาน (ภาพจากเฟซบุ๊ก)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Blocked in the West, Huawei eyes emerging markets
By JEFF PAO
25/11/2022

หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคจีนที่ถูกสหรัฐฯ จองล้างจองผลาญไม่ยอมให้เติบโตในโลกตะวันตก วางกรอบแผนการที่จะประคับประคองธุรกิจระหว่างประเทศของตน ด้วยโครงการใช้โทรคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่ชนบท บวกกับเรื่องพลังงานสะอาด ทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หัวเว่ย เทคโนโลจีส์ กำลังเขม้นมองไปที่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และคิดค้นใช้ยุทธศาสตร์ล้ำๆ เพื่อเป็นการแก้เกมหลังจากแผนการขยายตัวในโลกตะวันตกประสบอุปสรรคและเผชิญการแซงก์ชัน ประธานบริษัท เหลียง หัว (Liang Hua) กล่าว ณ เวทีประชุม CSD Forum ของ หัวเว่ย ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/events/csd-forum-2022?utm_medium=sm&utm_source=corp_twitter&utm_campaign=csd2022)

เหลียง พูดในเวทีประชุมคราวนี้ที่ใช้ชื่อว่า “Connectivity+: Innovate for Impact” (การเร่งขยายการต่อเชื่อม+: สร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบ) และจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนว่า หัวเว่ย วางแผนการให้บริการต่างๆ ทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมแก่ประชาชนราวๆ 120 ล้านคนในพื้นที่ชนบท ของ 80 ประเทศทั่วโลกภายในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาระบุว่า ยักษ์ใหญ่เทคจีนรายนี้กำลังเน้นเป้าหมายไปที่พวกตลาดใหม่ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง

การประกาศเช่นนี้เป็นเครื่องหมายของการหันหัวเลี้ยวทางยุทธศาสตร์ที่ยากลำบากครั้งหนึ่งสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกอเมริกาตามตีกระหน่ำไม่เลิกรารายนี้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ใส่ชื่อ หัวเว่ย และกิจการในเครืออีก 70 แห่งเข้าไปในบัญชีดำ “Entity List” ของทางกระทรวง และออกคำสั่งห้ามขายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีสหรัฐฯ เกี่ยวข้องอยู่ด้วยแก่หัวเว่ย ตลอดจนกิจการในเครือของบริษัท

มาตรการลงโทษเหล่านี้ ซึ่งประกาศโดยอ้างเหตุผลความชอบธรรมว่าเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ยังครอบคลุมถึงการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายที่ หัวเว่ย เป็นผู้ผลิต ในสหรัฐฯ ไม่เฉพาะเพียงแค่ขัดขวางห้ามขายชิประดับไฮเอนด์ที่สหรัฐฯ ผลิตให้แก่บริษัทแห่งนี้เท่านั้น มิหนำซ้ำสหรัฐฯ ยังไม่ยอมให้ หัวเว่ย ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล อีกด้วย

สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และไต้หวัน ต่างแถลงว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนี้ของวอชิงตัน แม้มีบางประเทศในยุโรป อย่างเช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังไม่ได้ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ของ หัวเว่ย อย่างเป็นทางการ แต่พวกนักวิเคราะห์เชื่อว่า แม้กระทั่งประเทศเหล่านี้ก็มีการห้าม “ทางอ้อม” กันอยู่แล้ว

การแซงก์ชันเหล่านี้ทำให้ผลประกอบการของ หัวเว่ย ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง บริษัทประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมว่า อัตราผลกำไรของบริษัทลดต่ำลงเกือบ 50% จาก 9.8% เหลือ 5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันนี้ของ หัวเว่ย หล่นลงมา 52% เหลือ 15,100 ล้านดอลลาร์

เพื่อรับมือกับสถานการณ์อันเลวร้าย เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย เขียนเอาไว้ในบันทึกภายในฉบับหนึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมว่า บริษัทจะปิด หรือลดขนาดพวกธุรกิจที่ไม่ทำกำไรของตน และในปีต่อๆ ไปจะมุ่งให้น้ำหนักมากขึ้นแก่พวกสายธุรกิจที่มีมูลค่าสูง

“ช่วงเวลาสำหรับการหยุดพักชั่วคราวของเราคือปี 2023 และ 2024 เรายังไม่มีความแน่ใจว่าเราสามารถหรือไม่ที่จะบรรลุการผ่าทางตันทะลุทะลวงใดๆ ในช่วง 2 ปีนี้” เหริมระบุในบันทึกภายในดังกล่าว “ด้วยเหตุนี้ ตอนนี้ทุกๆ คนจึงไม่ควรจะเสนอแนวความคิดอะไรต่ออะไร แต่ต้องพูดกันถึงความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาคาดการณ์พยากรณ์ธุรกิจ”

6 ธุรกิจหลักๆ

เวทีประชุมในวันที่ 23 พฤศจิกายน ดูเหมือนมีการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศแผนใหม่ของบริษัท อย่างน้อยที่สุดก็ในด้านๆ หนึ่งของยุทธศาสตร์

น่าสังเกตว่า งานนี้เป็นงานใหญ่โตไม่ใช่น้อย ผู้ที่เข้าร่วมแบบทางไกลผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีทั้งรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานกำกับตรวจสอบ จากประเทศกัมพูชา ไนจีเรีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และแอฟริกาใต้ แล้วยังมีพวกผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมจากแอฟริกาใต้ เบลเยียม และเยอรมนี ซึ่งก็เข้าร่วมในแบบเสมือนจริงเช่นกัน

เหลียง ระบุว่า ธุรกิจหลักๆ 6 ธุรกิจของหัวเว่ย ประกอบไปด้วย โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมืออุปกรณ์ปลายทาง (เทอร์มินัล) กำลังไฟฟ้าดิจิทัล คลาวด์ โซลูชันด้านรถยนต์อัจฉริยะ และธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่ได้มีการจัดตั้งโรงงานขึ้นมาผลิตเอง ธุรกิจนี้ของหัวเว่ย ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ไฮซิลิคอน (Hisilicon)

“หัวเว่ย” จัดเวทีประชุม CSD Forum ของบริษัท ขึ้นที่เซินเจิ้น ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2022 โดยที่มีรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา ตลอดจนพวกผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมจากแอฟริกาใต้ และยุโรป เข้าร่วมแบบทางไกล (ภาพสกรีนช็อต)
“วิสัยทัศน์ของเรา และภารกิจของเรา คือ การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ทางดิจิทัลไปยังทุกๆ บ้านและทุกๆ องค์การ” เหลียง ระบุ “เราจะประยุกต์พวกเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมเข้าไปในโซลูชันของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถทำให้มีการเชื่อมต่อกัน และเข้าถึงชีวิตของประชาชน”

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ทุ่มเทความพยายามจำนวนมากไปในการทำงานแก้ไขปัญหา ทั้งด้วยผลิตภัณฑ์ของเรา โซลูชันของเรา และบริการของเรา” เขากล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องการถูกฝ่ายตะวันตกแซงก์ชัน “เราจะยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านซัปพลายของเรา เพื่อที่เราจะยังสามารถซัปพลายผลิตภัณฑ์และบริการของเราไปถึงลูกค้าของเราได้ต่อไปอีกในอนาคต”

เหลียง ย้ำว่า ขณะขยายงานในต่างประเทศ หัวเว่ย จะให้ความใส่ใจกับความรับผิดชอบต่างๆ ในทางสังคมของตนเองด้วย เขากล่าวว่า หนึ่งในความพยายามล่าสุดของบริษัท คือการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรดิจิทัล “Partner2Connect” หรือ P2C ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU)

ITU นั้นเป็นองค์กรชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ที่รับผิดชอบทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม และมุ่งแสวงหาหนทางช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่การเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ผ่านเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ และปรับปรุงยกระดับการเข้าถึงของประชาคมต่างๆ ทั่วโลกที่ยังมีโอกาสเชื่อมต่อไม่เพียงพอ

ณ วันที่ 23 พฤศจิกายนนั่นเอง หัวเว่ย ได้จัดพิธีลงนามในข้อตกลงเข้าร่วม P2C และประกาศเป้าหมายที่จะให้การเชื่อมต่อแก่ประชาชนราว 120 ล้านคนซึ่งอยู่ตามพื้นที่ห่างไกลในกว่า 80 ประเทศภายในปี 2025 โดยที่บริษัทระบุว่า ในปัจจุบันได้ดำเนินการเชื่อมโยงประชาชนในต่างแดนเป็นจำนวน 60 ล้านคนในประเทศต่างๆ 10 กว่าประเทศแล้ว

มัลคอล์ม จอห์นสัน รองเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ บอกว่า หัวเว่ย สามารถช่วยปรับปรุงยกระดับการเชื่อมต่อด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบทต่างๆ (ภาพสกรีนช็อต)
ทางด้าน มัลคอล์ม จอห์นสัน (Malcolm Johnson) รองเลขาธิการ ITU กล่าวว่า การขยายบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบท ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการเชื่อมต่อเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องความสามารถในการแบกรับค่าใช้จ่ายของประชาชนอีกด้วย

จอห์นสัน ระบุว่า การที่ หัวเว่ย เข้าร่วมรับพันธกรณีกับทางกลุ่มพันธมิตร P2C เช่นนี้ จะช่วยปรับปรุงยกระดับการเชื่อมต่อและทักษะด้านดิจิทัลในพื้นที่ชนบทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ สิทธาร์ถ ชัตเตอร์จี (Siddharth Chatterjee) ผู้ประสานงานของสหประชาชาติประจำประเทศจีน กล่าวว่า ประดาผู้วางนโยบาย ผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคม นักวิชาการ และภาคประชาสังคมทั้งหลายควรร่วมมือกันเพื่อยุติ “สภาวการณ์แบ่งแยกทางดิจิทัล” ซึ่งเป็นตัวกีดกันประชากรหนึ่งในสามของโลกในเวลานี้ จากการเชื่อมต่อด้านโทรคมนาคม

เมื่อปี 2018 หัวเว่ย ได้เปิดโครงการนำร่องที่ใช้ชื่อว่า “รูรัลสตาร์” (RuralStar) ในประเทศแอฟริกาอย่าง กานา เพื่อต่อเชื่อมประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ

เฉา หมิง (Cao Ming) ประธานด้านโซลูชันไร้สาย (wireless solutions) ของ หัวเว่ย บอกว่า เขาคาดหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเปิดตลาดของ หัวเว่ย และใช้นโยบายสนับสนุนให้ขยายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเรี่อยๆ และขยายเข้าไปยังพื้นที่ชนบท

เขาบอกด้วยว่า การขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์เทอร์มินอล –หรือก็คืออุปกรณ์ปลายทางที่เป็นตัวต่อเชื่อมผู้ใช้กับอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์พีซี – ซึ่งมีราคาและภาระค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับแบกรับกันไหว คือปัญหาหลักที่ทำให้พื้นที่ชนบทมีการเชื่อมต่อในระดับต่ำ

“เราทุกคนต่างทราบกันดีว่า 4จี มีความเร็วมากกว่า 3จี 10 เท่า แต่ในแอฟริกา การอัปเกรดอุปกรณ์เทอร์มินัล 3จี ไปสู่ระดับ 4 จี ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน จึงทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงใช้แค่บริการ 3จี กันต่อไป” เขาอธิบาย

สำหรับหัวเว่ย เฉา กล่าวว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำลง ด้วยการติดตั้งเสารับส่งสัญญาณที่เป็นเสาตรงๆ แทนที่จะสร้างเป็นหอและสถานีฐานที่ราคาแพงกว่ามาก รวมทั้งมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวจ่ายไฟฟ้าแก่อุปกรณ์ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ชนบทที่กานา เขาระบุว่า เวลานี้ที่ตั้งโครงการรูรัลสตาร์ จำนวนราว 2,000 แห่งกำลังทำหน้าที่ต่อเชื่อมประชาชนจำนวน 3.2 ล้านคน โดยที่เสารับส่งสัญญาณแต่ละแห่งสามารถให้บริการแก่ประชาชนในกานา 1,000-2,000 คน

เขาบอกอีกว่า โมเดลเช่นนี้ได้ถูกนำไปทำซ้ำในประเทศอื่นๆ อีก 10 กว่าแห่ง ขณะที่ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและพวกบริษัทโทรคมนาคมท้องถิ่นเวลานี้มีแรงกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากระยะเวลาการได้เงินกลับคืนที่สั้นลง โดยเขาระบุว่า เวลานี้อยู่ที่ประมาณ 1 ถึง 3 ปี

ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ กดดันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้เพิกถอน หัวเว่ย ออกไปจากเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศตะวันออกกลางแห่งนั้น ไม่เช่นนั้นแล้ววอชิงตันจะระงับข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนหน้านั้น ในการขายเครื่องบินขับไล่ไอพ่นไฮเทครุ่น เอฟ-35 ให้ นอกจากนั้น ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ วอชิงตันได้ลงนามในข้อตกลงที่จะพัฒนาเครือข่าย 5จี และ 6จี ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะลดทอนอิทธิพลของหัวเว่ย ในราชอาณาจักรรุ่มรวยน้ำมันแห่งนี้

ลูกค้าชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ร้านหัวเว่ยแห่งหนึ่งในเมืองหลวงริยาด (ภาพจากเฟซบุ๊ก)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคม 2021 หัวเว่ย ดิจิตอล เพาเวอร์ (Huawei Digital Power) กิจการหนึ่งของหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ แถลงว่า ตนชนะการประกวดราคาโครงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนองให้แก่โครงการทะเลแดง (Red Sea Project) ซึ่งเป็นโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ขนาดมโหฬารในซาอุดีอาระเบีย บริษัทบอกว่าจะบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลของตน เข้ากับพวกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสง (photovoltaic) และเทคโนโลยีเก็บกักพลังงานในโครงการนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://solar.huawei.com/eu/news/eu/2021/10/1300-MWh-Huawei-Wins-Contract-for-the-Worlds-Largest-Energy-Storage-Project)

“เราคาดหวังว่า ตะวันออกกลางจะกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสำคัญแห่งหนึ่งในอนาคตข้างหน้า” เหลียง กล่าว “ตะวันออกกลางสามารถสร้างพวกศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และใช้พลังการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ระดับสูง ตลอดจนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขา เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะหลายๆ แห่งขึ้นมา และขับดันแผ่ขยายเศรษฐกิจดิจิทัล”

เหลียง บอกว่า ตะวันออกกลางสามารถที่จะประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างง่ายดายกว่าภูมิภาคอื่นๆ มากมายนัก เนื่องจากมีช่วงเวลาที่ได้รับแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันยาวนานกว่า

เขาเสริมด้วยว่า พวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น อินโดนีเซียนั้น ได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานอย่างมั่นคงขึ้นมาแล้ว และดังนั้นจึงเป็นจังหวะอันดีสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อบูรณาการพวกเทคโนโลยี 5จี และด้านปัญญาประดิษฐ์ ให้กลายเป็นธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และในภาคการเกษตร

เหลียง บอกด้วยว่า เรื่องการศึกษาผ่านออนไลน์ บริการทางการแพทย์ทางออนไลน์ และเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) คือตัวอย่างของโอกาสดีๆ ทางธุรกิจสำหรับหัวเว่ย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น