เกิดเหตุการณ์ที่แสนประหลาด ชายรายหนึ่งจากรัฐมหาราษฏระ ถูกตำรวจเรียกสอบปากคำและถึงขั้นอาจติดคุก หลังจากปรากฏวิดีโอที่เขากำลังเข้าพิธีวิวาห์กับเจ้าสาวฝาแฝด อันเนื่องจาก 2 สาวพี่น้องไม่อยากอยู่ห่างกัน อย่างไรก็ตาม การสมรสครั้งนี้เสี่ยงเป็นการทำผิดกฎหมายของอินเดีย
การแต่งงานเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยนายอาตุล อุตตามะ อุตาเด เจ้าบ้านถูกเรียกตัวไปสอบปากคำ ฐานทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 494 ซึ่งกำหนดบทลงโทษสำหรับการสมรสซ้อน ขณะที่สามี หรือภรรยายังมีชีวิตอยู่ หลังจากชาวบ้านคนหนึ่งเข้าร้องเรียนเรื่องนี้กับตำรวจ
รายงานข่าวระบุว่า พิธีแต่งงานเป็นการจัดแบบเปิดเผยอย่างเอิกเกริกไม่มีการปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น และดูเหมือนว่าเจ้าสาวทั้ง 2 คนก็มีความสุขกับการสมรสครั้งนี้ โดยมีเพื่อนๆ และญาติๆ แห่แหนร่วมแสดงความยินดี
หนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทม์สรายงานว่า 2 สาวฝาแฝด รินกี และพิงกี วัย 36 ปี ตกลงแต่งงานกับ อุตาเด เพราะว่าพวกเธอไม่ต้องการแยกจากกัน พวกเธอเข้าสู่ประตูวิวาห์กับ อุตาเด ในพิธีเดียวกัน โดย อุตาเด แต่งกับ รินกี ก่อน แล้วตามด้วย พิงกี
อย่างไรก็ตาม กฎหมายการสมรสของฮินดูบัญญัติว่าการมีสามีหรือภรรยาหลายคนในช่วงเวลาเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งนี้ การมีสามีหรือภรรยาหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1956 โดยบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกับพลเมืองทุกคนยกเว้นกับชาวมุสลิม ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีภรรยาสูงสุด 4 คน ส่วนชาวฮินดูในรัฐกัวและเมืองต่างๆ ตามแนวชายฝั่งทางตะวันตกของประเทศ ได้รับอนุญาตให้มีภรรยามากกว่า 1 คนเช่นกัน เนื่องจากการมีคู่ครองทีเดียว 2 คนเป็นเรื่องถูกกฎหมายของพวกเขา ขณะที่ชนพื้นเมืองอดิวาสี (Adivasi) หลายชุมชน ยังคงยึดถือธรรมเนียมการมีคู่ครองหลายคน
ตามกฎหมายแล้วการเป็นภรรยาคนที่ 2 ของชาวฮินดูรายหนึ่งๆ จะเท่ากับเป็นเมียเก็บ แม้ในทางศาสนาและทางสังคมแล้วเธออาจถูกมองว่าเป็นภรรยาโดยชอบธรรม ทั้งนี้ การมีคู่ครองหลายคนในหมู่ชาวฮินดู บางครั้งก็เป็นสิ่งยอมรับได้ในพื้นที่ชนบทบางแห่ง บ่อยครั้งก็ได้รับอนุญาตจากบรรดาภรรยาคนก่อนหน้า ผลสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติเมื่อปี 2005-06 พบว่ามีผู้หญิงราว 2% ที่แจ้งว่าสามีมีภรรยารายอื่นๆ นอกจากพวกเธอ
ในกรณีงานแต่งของคู่สาวฝาแฝด บรรดาทนายความแสดงความคิดเห็นเน้นว่าคดีลักษณะนี้ การร้องเรียนหรือแจ้งความจำเป็นต้องมาจากภรรยาคนแรก ซึ่งในกรณีนี้ภรรยาทั้ง 2 คนต่างยินยอมพร้อมใจเข้าพิธีวิวาห์ อย่างไรก็ตาม เพื่อพิสูจน์ว่าการสมรสครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและพิธีกรรมทางศาสนาอย่างครบถ้วนหรือไม่
(ที่มา : เอาท์ลุคอินเดีย)