รัฐสภาสิงคโปร์ยกเลิกกฎหมายซึ่งกำหนดความผิดทางอาญาสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้มีการยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งอาจทำให้การสมรสเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในสิงคโปร์มีขึ้น หลังจากที่หลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น ไต้หวัน ไทย และอินเดีย ต่างก็มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิให้แก่ประชาคม LGBT มากยิ่งขึ้น
แม้นักเคลื่อนไหวจะออกมาแถลงชื่นชมการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377A ห้ามเกย์มีเซ็กซ์ แต่ก็มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่อง “น่าผิดหวัง” เพราะจะทำให้พลเมืองสิงคโปร์ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อท้าทายคำนิยามการสมรส ครอบครัว หรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประเด็นเหล่านี้ถูกพิจารณาแก้ไขได้โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น
รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ โดยระบุว่าการตัดสินใจในประเด็นดังกล่าวไม่ควรจะถูกชี้นำโดยศาล
นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง และผู้ที่ถูกวางตัวให้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากเขา ต่างประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขคำนิยามการสมรส ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าเป็นเรื่องระหว่าง “ชายและหญิง” เท่านั้น
“เราพยายามที่จะรักษาสมดุล และปกป้องสังคมที่มีเสถียรภาพด้วยค่านิยมของการสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิม แต่ก็จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้ใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมด้วย” เค. ชานมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์ แถลงต่อรัฐสภาในสัปดาห์นี้
ทั้งการยกเลิกกฎหมายห้ามเกย์มีเซ็กซ์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสิงคโปร์ด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ ทว่ายังไม่มีการประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อใด
ไบรอัน ชุง (Bryan Choong) ประธานกลุ่ม Oogachaga ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ ระบุว่า นี่ถือเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 377A มานานถึง 15 ปี แต่ถึงกระนั้นคู่รักและครอบครัว LGBT “ก็ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการยอมรับและปกป้อง” ตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
แม้ทัศนคติที่คนสิงคโปร์มีต่อกลุ่ม LGBT จะเริ่มเป็นไปในทางเสรีนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ทว่าแนวคิดแบบอนุรักษนิยมก็ยังคงฝังรากลึกในกลุ่มศาสนาต่างๆ
ผลสำรวจของสถาบันศึกษานโยบาย (Institute of Policy Studies) เมื่อปี 2018 พบว่า ประชากรสิงคโปร์ในช่วงอายุ 18-25 ปี ราว 42% บอกว่า “รับได้” กับการสมรสเพศเดียวกัน เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 17% ที่สำรวจเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า
ที่มา: รอยเตอร์