xs
xsm
sm
md
lg

เมินเสียงก่นด่า! ปธน.ฝรั่งเศสย้ำข้อเสนอสันติภาพยูเครน ต้องรับประกันความมั่นคงของรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เน้นย้ำความเชื่อของตนเองที่ว่า ความขัดแย้งในยูเครนหลีกหนีไม่พ้นต้องคลี่คลายบนโต๊ะเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะวันตกและนาโต้จะต้องมาพร้อมกับคำรับประกันด้านความมั่นคง ไม่ใช่แต่กับเคียฟเท่านั้น แต่รวมไปถึงมอสโกเช่นกัน เพื่อการันตีสันติภาพที่ยั่งยืน

"วันแห่งสันติภาพจะเกี่ยวข้องกับการพูดคุย สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุด ก็เพื่อค้ำยันยูเครน เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และความมั่นคงในระยะยาวของยูเครน แต่มันก็เพื่อรัสเซียเช่นกัน ในฐานะฝ่ายหนึ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสงบศึกชั่วคราวและสนธิสัญญาสันติภาพ" มาครงให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ TF1 และ LCI ในวันอังคาร (20 ธ.ค.)

ผู้นำฝรั่งเศสส่งเสียงนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการมอบคำรับประกันด้านความมั่นคงแก่รัสเซีย เป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามันเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่นาโต้จำเป็นต้องจัดการ ซึ่งทางรัสเซียเคยแสดงความกังวลว่าพันธมิตรทหารแห่งนี้กำลังแผ่ขยายอิทธิพลมาจ่อหน้าประตูบ้านของพวกเขาและประจำการอาวุธที่คุกคามรัสเซีย

ข้อเสนอของเขาโหมกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ใช่แต่จากเคียฟ แต่ยังรวมไปถึงบรรดาผู้นำอียูคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโปแลนด์ สโลวะเกีย และประเทศต่างๆ ในแถบบอลติก กระตุ้นให้พวกผู้แทนทูตของฝรั่งเศส พยายามกลบกระแสความขุ่นเคือง โดยยืนยันว่ามันถูกตีความเกินเลยจากความเป็นจริง ขณะที่ มาครง เรียกร้องพันธมิตรยุโรป "อย่าก่อประเด็นถกเถียง ทั้งที่มันไม่มีประเด็นอะไร"

ในการสัมภาษณ์ล่าสุด มาครงแนะให้ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อธิบายว่าทางเลือกแบบไหน ที่ท้ายที่สุดแล้วมันจะนำมาซึ่งการเจรจากับมอสโก

เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน รัสเซียนำเสนอข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงต่อสหรัฐฯ และนาโต้ ร้องขอให้แบนยูเครนจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรทหารนาโต้ พร้อมยืนกรานให้นาโต้ถอยกลับสู่แนวเขตแดนช่วงปี 1997 หรือก่อนหน้านี้นาโต้จะแผ่ขยายขอบเขตมาทางทิศตะวันออก

ในเดือนมกราคม สหรัฐฯ และนาโต้ปฏิเสธ โดยบอกว่าพวกเขาสนใจแค่โต๊ะเจรจาควบคุมอาวุธทางยุทธศาสตร์เท่านั้น จากนั้นความขัดแย้งในยูเครน ก็ได้ลุกลามลานปลายในเดือนกุมภาพันธ์ และนับตั้งแต่นั้น ทางกลุ่มยังได้เคลื่อนไหวอ้าแขนรับสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกทหาร แม้ปัจจุบันยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น