มหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” ตั้งโพลให้ชาวเน็ตผู้ติดตามเข้าไปโหวตแสดงความคิดเห็นว่าตนเองควรที่จะสละตำแหน่ง “ซีอีโอทวิตเตอร์” หรือไม่วานนี้ (18 ธ.ค.) และยืนยันว่าถ้าผลโพลออกมาในรูปไหนก็ยินดีที่จะทำตาม
โพลดังกล่าวจะเปิดให้มีการโหวตได้จนถึงเวลา 11.20 GMT ของวันจันทร์ (19) ขณะที่ มัสก์ เองยังไม่ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนในการลงจากตำแหน่งซีอีโอ หากผลสำรวจพบว่าชาวเน็ตส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น
มัสก์ ยังเข้าไปตอบคำถามของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โดยยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่ได้วางตัว “ผู้สืบทอดตำแหน่ง” ในกรณีที่ตนเองต้องลาออก
มัสก์ เคยกล่าวต่อศาลที่รัฐเดลาแวร์เมื่อเดือน พ.ย. ว่า ตนจะ “ใช้เวลากับทวิตเตอร์ให้น้อยลง” และจะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นซีอีโอแทนในที่สุด
การตั้งโพลในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ทวิตเตอร์ประกาศอัปเดตนโยบายใหม่เมื่อวันอาทิตย์ (18) โดยห้ามมิให้มีการเปิดบัญชีทวิตเตอร์เพื่อ “โปรโมต” โซเชียลมีเดียเจ้าอื่น รวมถึงจะแบนเนื้อหาที่มีการแปะลิงก์ หรือยูสเซอร์เนมสำหรับแพลตฟอร์มคู่แข่งด้วย
นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Facebook, Instagram, Mastodon, Truth Social, Tribel, Nostr และ Post เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนทวิตเตอร์ยืนยันว่า การโพสต์เนื้อหาที่ซ้ำกับในแพลตฟอร์มอื่นๆ (cross-content posting) ยังสามารถทำได้
อย่างไรก็ดี TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแชร์คลิปวิดีโอสั้นของบริษัท ไบต์แดนซ์ ของจีน ไม่ได้มีชื่ออยู่ใน “ลิสต์ต้องห้าม” ของทวิตเตอร์
ด้าน แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอทวิตเตอร์ซึ่งปัจจุบันหันไปลงทุนกับ Nostr เข้าไปตั้งคำถามในโพสต์ของฝ่ายสนับสนุนทวิตเตอร์สั้นๆ ว่า “ทำไม?” และยังตอบผู้ใช้รายหนึ่งที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการห้ามโปรโมต Nostr ว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่เมกเซนส์” เอาซะเลย
สัปดาห์ที่แล้ว ทวิตเตอร์ได้ประกาศยุบ Trust and Safety Council ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจต่างๆ ของแพลตฟอร์ม
การปรับนโยบายครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับทวิตเตอร์นับตั้งแต่ มัสก์ เข้าซื้อกิจการเมื่อปลายเดือน ต.ค. ไม่ว่าจะเป็นการปลดผู้บริหารระดับสูง การเลิกจ้างพนักงานราวๆ ครึ่งบริษัท รวมไปถึงประเด็นการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ที่ใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีฟ้าหรือ Twitter Blue
มัสก์ ยังสั่งระงับบัญชีทวิตเตอร์ของผู้สื่อข่าวหลายรายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างว่าบัญชีเหล่านี้แชร์ข้อมูลแบบ “เรียลไทม์” เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเขาและครอบครัว ก่อนจะยอมปลดล็อกบัญชีให้หลังจากที่ถูกองค์กรสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐทั่วโลกออกมาวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามาตรการดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ
ที่มา : รอยเตอร์