เป็นอันว่า “ชิลมาก สบายยิ่ง” สำหรับสาวๆ แฟนบอลโลก 2022 ซึ่งสามารถ นุ่งห่มสนุก-ลุกนั่งสบาย ได้ตลอดตั้งแต่ที่บินเข้ากาตาร์ ประเทศมุสลิมถิ่นตะวันออกกลาง จรดจนถึงเวลาที่บินกลับบ้านเกิด เอพีรายงานไว้ในภาพชุดพร้อมสกู๊ปบอลโลก โดยนำเสนอภาพถ่ายสาวสวยนานาชาติในชุดแต่งกายที่เป็นตัวของตัวเอง ด้วยกางเกงขาสั้น เสื้อกางเกงรัดรูปเพื่อความกระฉับกระเฉง โชว์เอวโชว์แขนพองาม แต่ไม่ถึงจัดเต็มระดับเปิดเปลือยผิวผ่องของแผ่นหลังหรือแผ่นหน้า มีความให้เกียรติแก่วัฒนธรรมประเพณีของเจ้าถิ่นพอใช้ได้เลย
เอพีรายงานความในใจของคุณแม่ดาเนียลลา ครอว์ฟอร์ด คุณแม่ยังสาวจากบราซิล เธอให้สัมภาษณ์แก่เอพี ยอมรับว่าข้อแนะนำเรื่องชุดแต่งกายของแฟนบอลสตรี ที่ทางการกาตาร์ประกาศให้ปฏิบัติตามขณะอยู่ในกรุงโดฮาเพื่อเชียร์บอลโลกนั้น ได้สร้างความหวั่นใจนิดๆ
แต่กระนั้นก็ตาม เธอก็เหมือนแฟนบอลสตรีทั้งหลายซึ่งบินเข้าไปชมไปเชียร์การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ได้อย่างสนุกสบาย ไม่ได้เผชิญปัญหาอะไร โดยเธอนุ่งกางเกงขาสั้น จูงมือสองลูกชายตัวน้อย และควงสามีไปเชียร์ทีมชาติบราซิลฟาดแข้งกับโครเอเชีย และแวะถ่ายภาพที่ระลึกร่วมกับธงประจำชาติที่ด้านหน้าสนามกีฬาเอดูเคชัน ซิตี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2022
“ในบราซิล ผู้คนชินกับเสื้อผ้าสวมใส่สบาย เมื่อเรามาที่นี่ เราตัดสินใจไว้แล้วที่จะแสดงให้เห็นว่าชีวิตของเรานี้เป็นกันอย่างไร” คุณนายครอว์ฟอร์ดบอกเอพี
ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกปี 2022 เป็นมหกรรมใหญ่ยักษ์ที่ไปจัดกันเป็นครั้งแรกในชาติมุสลิมถิ่นอาหรับ โดยที่ว่าทั้งรัฐบาลกาตาริและทั้งฟีฟ่าช่วยกันแนะนำแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกที่แห่กันไปชมไปเชียร์การแข่งขันว่า ให้เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศเจ้าภาพในทุกแง่มุม ตั้งแต่ด้านเสื้อผ้าของแฟนบอลสตรีไปจนถึงการดื่ม
แฟนบอลสาวสวยจำนวนมากมายที่ให้สัมภาษณ์แก่เอพีบอกว่า แม้พวกเธอมีความกังวลใจ แต่ก็ยังไม่เจอกับปัญหาใดๆ โดยที่ว่าสไตล์การแต่งกายที่พวกเธอสวมใส่กันในชีวิตประจำวัน ก็ปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย
พร้อมนี้มีหลายรายทีเดียวซึ่งแฮปปี้ที่รัฐบาลกาตาริเข้มงวดจริงจังในการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ โดยบอกว่าทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
อันที่จริง การได้เป็นเจ้าภาพจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกเปิดทางให้กาตาร์นำเสนอภาพลักษณ์แท้จริงเกี่ยวกับบทบาทของสตรีกาตาริ พร้อมกับลบล้างภาพลักษณ์เก่าๆ ที่โลกมักทึกทักว่าผู้หญิงในกาตาร์ไม่มีอำนาจหรือบทบาทในสังคม
กาตาร์เป็นชาติอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้ เมื่อออกนอกบ้าน สตรีส่วนใหญ่มีผ้าคลุมศีรษะและสวมชุดยาวกรอมเท้าที่คลุมร่างกายอย่างหลวมๆ
กระนั้นก็ตาม ผืนแผ่นดินกาตาร์เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกหลากหลายเชื้อชาติจำนวนกว่า 2.7 ล้านรายที่เข้าไปทำงานในฐานะแรงงานต่างด้าว ขณะที่จำนวนประชากรชาวกาตาร์นั้นอยู่ที่เพียงประมาณ 300,000 รายเท่านั้น ดังนั้น กาตาร์จึงไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับสตรีต่างชาติ
เบมีเอ ราเกย์ คุณผู้หญิงจากฟิลิปปินส์ซึ่งไปทำงานในกาตาร์ยาวนานกว่า 8 ปีแล้ว บอกเอพีว่าอยู่ที่กาตาร์จะรู้สึกปลอดภัยเสมอ
“ปลอดภัยกว่าที่ประเทศของดิฉันค่ะ” สาวฟิลิปินาให้สัมภาษณ์อย่างนั้น
เธอบอกด้วยว่าเรื่องเครื่องแต่งกายไม่เป็นปัญหาอะไรเลยตราบเท่าที่เราทราบถึงขอบเขต ทั้งนี้เธอบอกว่าเธอสวมเสื้อเอวลอยที่ไม่ถึงขั้นโป๊ ก็ไม่มีปัญหา
“ขอแค่ไม่ถึงกับว่าจะเดินไปตามถนนในชุดเปิดเปลือยแผ่นหลังน่ะค่ะ ก็ต้องเคารพวัฒนธรรมของเขาน่ะค่ะ” สาวราเกย์บอกอย่างนั้น
อิซาเบลิ มอนเทอิโร วัย 32 ปีจากบราซิลบอกว่าเธอเลือกสวมกระโปรงที่ยาวหน่อยแทนที่จะนุ่งกางเกงขาสั้น ก็สามารถสัญจรไปได้โดยไม่ประสบปัญหาอันใด
“ไม่มีใครมองเราแบบนั้นแบบนี้หรอกค่ะ เพราะเราอยู่ในมหกรรมบอลโลกซึ่งเต็มไปด้วยวัฒนธรรมต่างๆ นานาจากทั่วโลก”
ผู้หญิงมุสลิมในกาตาร์มีบทบาทในสังคมมากมายกว่าที่ชาวโลกเข้าใจ
อันที่จริงนั้น สตรีกาตาริมีบทบาทสำคัญในการจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้ และในคณะกรรมการสูงสุด (เอสซี) ที่รับผิดชอบการจัดมหกรรมก็ประกอบด้วยสตรีเป็นจำนวนมาก โฆษกของเอสซีให้สัมภาษณ์แก่เอพีอย่างนั้น และเธอหวังว่ามรดกจากทัวร์นาเมนต์นี้ในด้านหนึ่งน่าจะเปลี่ยนทัศนคติที่โลกมีต่อสตรีในภูมิภาคนี้
“ผู้คนมากมายมีมุมมองไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของบทบาทสตรีในกาตาร์และในภูมิภาคตะวันออกกลาง” โฆษกแห่งเอสซีกล่าว และบอกว่าแฟนบอลที่มายังกาตาร์จะได้เห็นว่า “ผู้หญิงเรามีสิทธิและมีพลังอำนาจอย่างแท้จริงค่ะ”
รัฐบาลกาตาริได้ประกาศว่าการปรับปรุงสถานการณ์ของสตรีในประเทศอ่าวประเทศเล็กๆ อย่างกาตาร์ เป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วน สตรีกาตาริได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญจำนวนมากในภาครัฐบาลและภาคการศึกษา ตลอดจนเป็นรัฐมนตรีว่าการรวม 3 กระทรวง (กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและอุดมศึกษา และกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัว) ทั้งนี้ พระมารดาของประมุขพระองค์แรกแห่งกาตาร์ ทรงเป็นหนึ่งในสตรีที่มีชื่อเสียงสูงสุดในโลกอาหรับ ด้วยพระคุณูปการด้านสังคม
ตามสถิติปี 2021 อัตราของสตรีในประเทศกาตาร์ที่ได้รับการศึกษาอยู่ที่ 92% เท่ากับสูงติดอันดับที่ 6 ของกลุ่ม 17 ชาติอาหรับในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ยิ่งกว่านั้น จำนวนของสตรีกาตาริที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอยู่ที่สองเท่าของบุรุษกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ เด็กชายและเด็กหญิงในกาตาร์เกือบทั้งหมดได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมากมายชี้ปัญหาไปที่กฎหมายของกาตาร์ซึ่งกำหนดให้สตรีต้องได้รับการอนุญาตจากบุรุษที่เป็นผู้ปกป้องในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องการเดินทางไปถึงเรื่องการแต่งงานและการไปทำงาน ตลอดจนการได้รับการรักษาด้านการมีบุตรและการตรวจมะเร็งปากมดลูก
สัดส่วนของผู้หญิงกาตาริที่ได้ออกนอกบ้านไปทำงานสูงถึง 37% ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับตะวันออกกลาง ขณะที่สัดส่วนของสตรีในประเทศซาอุดีอาระเบียที่ได้ออกทำงานนอกบ้านขยายขึ้นรวดเร็วมากในช่วงที่ผานมา กระทั่งว่าในปี 2022 สัดส่วนด้านนี้ทะยานสู่ระดับ 27% จากระดับเพียง 14% ในปี 2019
มีด เอล-อามาดี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมแฟนฟีฟ่าในกรุงโดฮากล่าวว่า ผู้หญิงหลายๆ ท่านที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการจัดทัวร์นาเมนต์นี้ จะเป็นต้นแบบให้แก่ผู้หญิงท่านอื่นๆ ซึ่งสนใจจะเข้าสู่ธุรกิจด้านฟุตบอลและธุรกิจกีฬาต่างๆ
“ในทางสากลนั้น ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ผู้ชายครอบครองอยู่” เธอกล่าวอย่างนั้น และบอกว่าออร์แกนไนเซอร์ที่เป็นผู้หญิงได้รับความสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย “เพื่อทำให้มหกรรมกีฬาโลกครั้งนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมกับทำให้โลกมองเห็นเรา”
แฟนบอลสาวอิหร่านมีความสุขกันมากในบอลโลก 2022 - เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าชมเกมสดในสนามฟุตบอล
มาเรียม สาววัย 27 ปีจากอิหร่าน เป็นแฟนบอลตัวยง ตั๋วเข้าชมแมทช์อิหร่านดวลแข้งกับอังกฤษในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ยักษ์ระดับบอลโลก คือของขวัญที่ทรงคุณค่าอย่างเหลือเกิน เธอจับเที่ยวบินดิ่งตรงจากกรุงเตหะรานถึงกรุงโดฮาภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง
สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ ตั๋วใบนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของชีวิตที่เธอจะได้ชมแมทช์สดในสนามฟุตบอล เพราะผู้หญิงในอิหร่านไม่ได้รับอนุญาตในสนามฟุตบอล ตามนโยบายของรัฐบาลมีนโยบายห้ามผู้หญิงเข้าชมการแข่งขัน
“ดิฉันไม่เคยได้เข้าชมการแข่งขันสดในสนามกีฬาเลยค่ะ ดังนั้น นี่เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยม” คุณมาเรียม นักศึกษาสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรุงเตหะรานให้สัมภาษณ์แก่สื่อค่ายแคนาเดียน เพรส โดยขอไม่เปิดเผยนามสกุลเพื่อป้องกันตัวมิให้ถูกรัฐบาลลงโทษ
ขณะที่ทีมชาติฟุตบอลลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก ขบวนการต่อต้านเพื่อสิทธิสตรีก็ต่อสู้อยู่ในอิหร่าน กองกำลังความมั่นคงใช้ความรุนแรงบุกสลายการเดินขบวนประท้วง โดยมีผู้คนเสียชีวิตเกือบห้าร้อยรายแล้ว ซึ่งรวมถึงสตรีและเด็ก ตามข้อมูลของนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน
การลุกฮือขึ้นต่อต้านนโยบายของรัฐบาลเตหะรานต่อผู้หญิงเปรี้ยงปร้างขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2022 หลังข่าวสะพัดออกไปว่าสาวอิหร่านวัย 22 ปี นามว่ามาห์ซา อามินี ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎหมายที่กำหนดให้สตรีต้องสวมฮิญาบคลุมเส้นผมเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธรณะ และเธอถูกตำรวจหน่วยควบคุมศีลธรรมทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงถึงขั้นโคม่า ก่อนจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในห้วงสามวันต่อมา
“เป้าหมายความสำเร็จสำหรับขบวนการต่อต้านในตอนนี้คือ ให้การสวมฮิญาบเป็นเรื่องสมัครใจค่ะ แล้วหลังจากนั้น ก็จะเรียกร้องสิทธิเข้าชมกีฬาในสนามกีฬา” มาเรียมเล่าอย่างนั้น
การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอิหร่านขยายไปถึงสนามกีฬาในกรุงโดฮา โดยแฟนบอลมากมายนัดหมายกันเสนอข้อเรียกร้องเป็น 3 คำอันยิ่งใหญ่ “ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ” เพื่อให้ชาวโลกได้เห็นกันทั่วหน้า
ศึกการแข่งขันบอลโลกจึงได้สร้างคุณูปการส่วนสมทบแก่มนุษยชาติที่แสวงหาสิทธิและเสรีภาพ ทั้งเรื่องสิทธิสตรี พร้อมกับเรื่องสิทธิในเพศทางเลือก
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี แคนาเดียน เพรส)